นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยควรยืนยันเปิดตลาดข้าวตามข้อผูกพันอาเซียน ที่จะลดภาษีเหลือ 0% ในวันที่ 1 ม.ค.2553 ต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพัน หรือชะลอการเปิดตลาดข้าวไทยออกไป จะทำให้เกิดผลกระทบในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง และสมาชิกมีสิทธิตอบโต้ไทย โดยสามารถขึ้นภาษีข้าวของตนเองไปอยู่ในระดับเดียวกับอัตราที่ผูกพันไว้ในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ในขณะที่ยังคงให้อัตราพิเศษภายใต้อาเซียนต่อเวียดนาม ซึ่งจะเป็นผลเสียทำให้ไทยต้องเสียเปรียบเวียดนามในตลาดอาเซียนเป็นอย่างมาก และจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกข้าวในอาเซียนในที่สุด
ที่ผ่านมาไทยดำเนินการเชิงรุกในการผลักดันให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ ลดภาษีข้าวให้กับไทยภายใต้กรอบอาเซียน เพื่อสร้างความได้เปรียบกับไทย เช่น มาเลเซีย อัตราภาษีผูกพันในดับเบิลยูทีโอ 40% ต้องลดอัตราภาษีภายใต้อาเซียนลงมาที่ 20% อินโดนีเซีย อัตราภาษีผูกพันในดับเบิลยูทีโอ 160% (เก็บจริงประมาณ 450 RP/กก.) อัตราภาษีภายในอาเซียนที่ 25% ในปี 2015 และฟิลิปปินส์ อัตราภาษีผูกพันในดับเบิลยูทีโอ 40% ไทยกำลังผลักดันให้ฟิลิปปินส์ลดลงมาเหลืออย่างน้อย 20%
“ไทยได้เจรจาให้ประเทศเหล่านี้เปิดตลาดข้าวได้สำเร็จ แต่หากไทยปิดตลาดหรือชะลอ จะทำให้มีผลกระทบต่อความพยายามของไทยในการที่จะให้ประเทศอื่นๆ เปิดเสรีสินค้าข้าว หรืออาจถูกตอบโต้ได้" นางนันทวัลย์ กล่าว
ส่วนที่มองว่าเป็นการเปิดช่องทางให้มีการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ที่มีราคาถูกกว่าไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาวและพม่า เข้ามาตีตลาดข้าวไทยนั้น ได้เตรียมมาตรการไว้แล้ว เช่น การกำหนดด่านนำเข้าข้าว เฉพาะที่มีความพร้อมในการตรวจด้านความปลอดภัยอาหาร ผู้นำเข้าจะต้องมีใบรับรองการตรวจปริมาณสารตกค้าง ใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าข้าว ใบรับรองปราศจากข้าว GMO จาก lab ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ รวมถึงมีการติดตามการนำเข้าข้าว การเคลื่อนย้ายข้าว การเก็บรักษาข้าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|