นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วานนี้ (27 ส.ค.) เพื่อพิจารณาโครงการประกันราคาข้าวนาปี 2552/2553 เพื่อทบทวนนโยบายการประกันราคาข้าวนาปี จากเดิมที่จำกัดให้เกษตรกรแต่ละครัวเรือน นำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการได้ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ตัน เป็นการกำหนดวงเงินการประกันราคา ให้แต่ละครัวเรือนไม่เกิน 350,000 บาท ซึ่งเป็นวงเงินที่เท่ากับการดำเนินโครงการรับจำนำในปีที่ผ่านมา
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะกำหนดปริมาณประกันราคาข้าวไว้จำนวนเท่าใด เพราะแต่ละพื้นที่มีศักยภาพและผลผลิตต่อไร่ไม่เท่ากัน กขช.จึงมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปร่วมกันจัดทำตัวเลขต่างๆ ให้ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อเสนอให้ กขช.พิจารณาโดยเร็วที่สุด
ส่วนราคาประกันที่ประชุม กขช.มีมติให้กำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 15% ราคาประกันอยู่ที่ตันละ 15,300 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 14,300 บาท ข้าวเปลือกเจ้านาปี ตันละ 10,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,500 บาท
รมว.พาณิชย์ ยอมรับว่าสาเหตุที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะหากจำกัดปริมาณข้าวที่เกษตรกรนำ สามารถนำเข้าร่วมโครงการที่ 20 ตันต่อครอบครัว ก็จะทำให้เกษตรกรได้รับเงินน้อยกว่าการดำเนินโครงการรับจำนำ ทำให้มีปัญหาอื่นตามมาอีก
อย่างไรก็ตามหากเปลี่ยนเป็นการกำหนดวงเงิน ให้เกษตรกรแต่ละครัวเรือน เข้าร่วมโครงการได้ไม่เกิน 350,000 บาท ก็จะทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินชดเชยส่วนต่าง ระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น เช่น หากกำหนดไว้รายละไม่เกิน 20 ตัน จะทำให้เกษตรกรแต่ละรายได้รับเงิน 200,000 บาท แต่ถ้ากำหนดไว้ที่ไม่เกินรายละ 350,000 บาท วงเงินก็จะเพิ่มขึ้นอีก 75% จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ
ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ประเมินว่า รัฐบาลเปลี่ยนจากการกำหนดปริมาณข้าว ที่เข้าร่วมโครงการที่จำกัดไว้ไม่เกิน 20 ตันต่อครัวเรือน เป็นกำหนดวงเงินไม่เกิน 350,000 บาทต่อราย จะทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวเพิ่มขึ้น จากเดิม 2.5 หมื่นล้านบาท เป็น 4.3 หมื่นล้านบาท
นางพรทิวา คาดว่า กขช.จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับนโยบายประกันราคาได้ ก่อนที่จะเริ่มโครงการในเดือนต.ค.นี้ และคงไม่มีการหันกลับไปใช้นโยบายรับจำนำเหมือนในอดีตแล้ว เพราะเดินในแนวทางนี้มาไกลมากแล้ว และคาดว่าข้อสรุปที่ออกมา จะมีลักษณะใกล้เคียงกับโครงการประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ที่นำผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยมาคำนวณเป็นปริมาณสินค้าเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ
ส่วนกรณีที่ชาวนาขอขยายระยะเวลารับจำนำในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง คงต้องพิจารณารายละเอียดในแต่ละพื้นที่ก่อนว่ามีเหตุผลอย่างไร
แหล่งข่าวจากที่ประชุม เปิดเผยว่า สาเหตุที่ กขช.ยังไม่ได้ข้อสรุป เกี่ยวกับวงเงินหรือปริมาณข้าว ที่จะเข้าร่วมโครงการประกันราคา เนื่องจากเกรงว่าหากกำหนดเป็นปริมาณไว้จำนวน 20 ตัน ชาวนาอาจไม่พอใจและประท้วง เพราะเงินที่ได้รับน้อยกว่าโครงการรับจำนำ ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล แต่ถ้ากำหนดเป็นวงเงินที่ 350,000 บาท รัฐบาลก็จะใช้เงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เป็นภาระกับงบประมาณของรัฐบาล
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |