นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าสัปดาห์หน้าจะหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล โดยเบื้องต้นกำหนดระบายครั้งละไม่เกิน 5 แสนตัน เพื่อไม่ให้กระทบราคาตลาดในประเทศ ส่วนวิธีระบายหรือการระบาย เพื่อส่งออกหรือขายในประเทศนั้น จะต้องหารือกับนายกรัฐมนตรีก่อน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงจะดำเนินการทันที
“เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับจากต่างประเทศก็จะไปหารือว่า ควรจะระบายข้าวในสต็อกอย่างไร หลักเกณฑ์ง่ายๆ ตอนนี้ คือ ต้องไม่ให้กระทบราคาตลาด แต่จะขายจริงปริมาณเท่าใด วิธีการอย่างไรต้องไปปรึกษาให้ดีก่อน” นางพรทิวา กล่าว
ส่วนผลการประชุมอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ด้านการตลาด ที่ประชุมได้หารือประเด็นการพยุงราคาข้าว กรณีที่ราคาตลาดต่ำกว่าราคารับประกัน โดยกำหนดราคาตั้งรับไว้ในกรณีราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกันตันละ 1 พันบาท จึงจะนำวิธีการพยุงราคามาใช้ทันที
นางพรทิวา กล่าวว่า กขช.ชุดใหญ่ได้อนุมัติแนวทางการดูแลราคาแล้วทั้งสิ้น 7 วิธี แต่ในการประชุมวานนี้ (25 ก.ย.) ได้ข้อสรุปแล้ว 3 วิธีได้แก่ 1.การเสริมสภาพคล่องให้โรงสีเป็นผู้รับซื้อข้าวจากระบบปริมาณ 2 ล้านตัน โดยรัฐจะสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ให้ 3% วิธีการนี้จะทำให้ข้าวออกจากตลาดและส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้น 2.การแทรกแซง โดยให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) องค์การตลาดกลางเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) เป็นหน่วยงานรับซื้อซึ่งวิธีการเข้าไปรับซื้อจะกำหนดตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนั้น และ 3.การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกใน 29 จังหวัดโดยนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาขายโดยตรงกับผู้ซื้อกำหนดปริมาณ 2-4 แสนตัน
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวจากฤดูกาลผลิตนาปี 2552/2553 จะมีทิศทางดีเนื่องจากปริมาณผลผลิตอาจไม่ได้ตามคาดการณ์เพราะสภาพอากาศแล้ง ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยแต่มีการคาดการณ์ว่าจีนและอินเดียจะได้รับผลกระทบเดียวกันนี้ ทำให้จีนมีแนวโน้มนำเข้าข้าวขณะที่อินเดียมีแนวโน้มไม่ส่งออกข้าวทำให้เชื่อว่าราคาตลาดไม่น่าเป็นห่วง จึงไม่น่าจะเกิดการกดราคารับซื้อข้าว
“โรงสีพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐบาลเสนอที่จะช่วยสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย 3% ถือว่ารับได้ หากโรงสีกู้เงิน ดอกเบี้ย 6% ก็เท่ากับว่าจะมีภาระดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 50บาทต่อตัน แต่ถ้ารัฐช่วยดอกเบี้ยแค่ 3% ถือว่าเหมาะสม” นายชาญชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามวงการค้าข้าวมีการประเมินว่า ข้าวในสต็อกของรัฐบาลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 ล้านตันข้าวสาร จากการคำนวณปริมาณข้าวในสต็อกเดิมที่ไม่ได้ระบายออกมาหลังจากถูกระงับผลการประมูลข้าว 2.6 ล้านตันไปก่อนหน้านี้ ทำให้ปริมาณสต็อกคงเหลือที่ 4 ล้านตัน รวมกับปริมาณข้าวที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 ประมาณ 6 ล้านตันข้าวเปลือกหรือประมาณ 3 ล้านตันข้าวสาร
ทั้งนี้ กขช. ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวของรัฐ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ไม่กระทบราคาภายในประเทศ หรือกระทบให้น้อยที่สุด 2.รักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในเวทีโลก 3.ลดภาระการดูแลรักษาข้าวที่รัฐต้องรับผิดชอบลง และ 4.การระบายข้าวต้องขาดทุนน้อยที่สุด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |