www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

นายกฯ จี้พรทิวาดูแลราคาข้าว พาณิชย์ดีเดย์ 2 พ.ย.ตั้งโต๊ะซื้อ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วานนี้ (27 ต.ค.) ได้ติดตามโครงการประกันรายได้ของเกษตรกร และเร่งรัดการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การทำสัญญา การลงทะเบียน โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการประกันรายได้ข้าวเปลือกนาปี 2552/2553 พร้อมกับเห็นชอบการปรับปรุงตัวเลขผลผลิตต่อไร่ครอบคลุม 19 จังหวัด ที่มีการปลูกข้าว ที่ได้รับการทักท้วงว่ารัฐบาลใช้ตัวเลขการคำนวณผลผลิตต่ำเกินไป

ส่วนกรณีนายกสมาคมโรงสี เสนอให้รัฐบาลรับซื้อข้าวโดยตรง ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เรื่องนี้หากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในลักษณะที่ฝืนให้สูงกว่าราคาตลาด ปัญหาก็จะย้อนกลับไปอยู่ในสภาพเดิม การซื้อตามราคาอ้างอิงเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้ว เพราะเกษตรกรจะได้ส่วนต่าง ระหว่างราคาอ้างอิงกับราคาตลาดอยู่แล้ว

จี้พาณิชย์ดูแลขายข้าวราคาอ้างอิง

สำหรับกรณีที่มีความกังวลว่าเกษตรกร อาจจะขายข้าวได้ในราคาตันละ 5,500 บาท แต่ราคาอ้างอิงกลับอยู่ที่ 8,400 บาท อาจจะมีปัญหา นายอภิสิทธิ์ มองว่าราคาอ้างอิงได้ปรับลงมาแล้วที่ 8,400 บาท สำหรับข้าวที่มีความชื้น 15% แต่ปกติราคาข้าวจะขายได้ราคาตันละต่ำกว่า 7,000 บาทเล็กน้อย หากยังมีช่องว่างตรงนั้นอีกแสดงว่ามีปัญหาในพื้นที่ ซึ่งตรงนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้าไปดูแล แต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่กระทรวงพาณิชย์ จะต้องเข้าไปแทรกแซงราคาให้สูงกว่าราคาอ้างอิง

นายกฯ ยังกล่าวถึง ราคาข้าวที่ตกต่ำในช่วงนี้ ว่า รัฐบาลได้อนุมัติ 6 มาตรเกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพไปแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้เร่งรัดให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการ บางมาตรการจะสามารถเริ่มได้ในเดือน พ.ย.นี้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ให้กับโรงสี เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง 20,000 ล้านบาท และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้ ธ.ก.ส. 2 หมื่นล้านบาท ในการเข้าไปรับซื้อข้าวตรงจากชาวนา

สั่งสาทิตย์เร่งประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ การเข้าไปรับซื้อข้าวที่ราคาอ้างอิง เพื่อให้ตลาดมีการเคลื่อนไหว โดยรัฐบาลจะเข้าไปบริหารตลาด ไม่ให้มีช่องว่างของราคาอ้างอิง เพราะปัจจุบันจะประกาศราคาอ้างอิงทุก 15 วันแต่ต่อไปอาจจะต้องประกาศราคาอ้างอิงให้ถี่ขึ้น ควบคู่กับการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วง คือ หากราคาอ้างอิงห่างจากราคาจริง จะมีผลทำให้เกษตรกรรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะราคาอ้างอิงกับราคาซื้อขายไม่ตรงกัน รัฐบาลจึงต้องเข้าไปรักษาเสถียรภาพ ซึ่งเป็นธรรมดาที่โครงการใหม่และโครงการใหญ่จะมีคนเข้าใจ แต่รัฐบาลก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจให้มากที่สุด โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะเสนอข่าวสารทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ

กดปุ่มประกันรายได้ข้าวโพด 55 ล้านบาท

วานนี้นายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ เพื่อทำพิธีกดปุ่มโอนเงินชดเชยการประกันราคาข้าวโพดล็อต แรกให้กับเกษตรกรกว่า 3,000 ราย เป็นเงิน 55 ล้านบาท ซึ่งเป็นเกษตรกรปลูกข้าวโพดจังหวัดลพบุรี และเพชรบูรณ์ หลังจากรัฐบาลให้เกษตรกรลงทะเบียนประกันราคาข้าวโพดในช่วงที่ผ่านมากว่า 3.8 ล้านราย โดยประกันราคาให้แก่เกษตรกร 7.10 บาทต่อกิโลกรัม

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประกันราคาสินค้าเกษตร จึงต้องเดินหน้าให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นในปีหน้า โดยพยายามหามาตรการอื่นมาใช้ควบคู่กับการประกันราคา เพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ เพราะยอมรับว่าเป็นช่วงแรกในการเริ่มดำเนินการ คงต้องปรับปรุงหาแนวทางต่างๆ ให้การประกันราคามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตั้งโต๊ะซื้อข้าว 2 พ.ย.นำร่อง 3 จังหวัด

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.นี้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จะเริ่มรับซื้อข้าวเปลือกนาปี ปี 2552/2553 จากเกษตรกรในราคาอ้างอิง ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศทุกๆ 15 วัน ตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี ปี 2552/2553 โดยจะเริ่มที่ 3 จังหวัดก่อน คือ จ.พิษณุโลก กำแพงเพชร และนนทบุรี เพราะผลผลิตข้าวออกก่อนจังหวัดอื่น จากนั้นจะฝากเก็บในโกดังของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการซึ่งขณะนี้สมัครเข้าร่วมแล้ว 400 โรง แต่ต้องดำเนินการคัดเลือกตามเงื่อนไขอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกำหนดปริมาณรับซื้อที่ 2 ล้านตัน ใช้เงินประมาณ 20,000 ล้านบาท หากสถานการณ์ราคายังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะเพิ่มปริมาณรับซื้อได้อีก โดยจะนำเงินจากงบประมาณไทยเข้มแข็งมาใช้ดำเนินการ ซึ่งมีอยู่มากพอที่จะดูแลเสถียรภาพราคาข้าวได้

"เกษตรกรจะได้รับเงิน 2 ต่อ โดยสามารถใช้สิทธิในโครงการประกันรายได้ ซึ่งจะได้รับเงินส่วนต่างจากรัฐบาล และยังสามารถนำข้าวมาขายให้กับ อคส. หรือ อ.ต.ก.ตามราคาอ้างอิงได้อีก หากราคาดีเมื่อไร รัฐก็หยุดรับซื้อทันที แต่หากราคายังไม่ดีขึ้นก็จะรับซื้อต่อ และเมื่อผลผลิตข้าวในจังหวัดใดออกอีก ก็รับซื้ออีก ไม่ใช่ซื้อแค่ใน 3 จังหวัด ยืนยันว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการเชิงรุก ทำก่อนที่ราคาจะร่วงลงหนักกว่านี้ ไม่ใช่เป็นมาตรการเชิงรับ" นางพรทิวากล่าว

นางพรทิวา กล่าวว่า การรับซื้อข้าวจากเกษตรกรน่าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับตัวดีขึ้นได้ เพราะตั้งแต่ที่รัฐบาลมีข่าวจะรับซื้อ ราคาข้าวก็หยุดทรุดตัวลงแล้ว โดยราคาเปลือกเจ้าขณะนี้อยู่ที่ตันละประมาณ 8,400-8,500 บาท ที่ความชื้น 15% แต่หากความชื้นสูงกว่านี้ราคาก็จะลดลงอีก ขณะที่ราคาอ้างอิงวันที่ 16-31 ต.ค. อยู่ที่ตันละ 8,466 บาท

บีบเก็บสต็อกเพิ่มเป็น 1,000 ตัน

ส่วนการหารือกับผู้ส่งออกเรื่องมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือกของรัฐบาลนั้น นางพรทิวา กล่าวว่า ได้ขอให้ผู้ส่งออกช่วยซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรตามราคาตลาด อย่ากดราคารับซื้อ และอาจให้เพิ่มการดำรงสต็อกข้าวของผู้ส่งออกเป็น 800-1,000 ตันตามความเหมาะสม จากปัจจุบันกำหนดให้เก็บสต็อกตลอดเวลา 500 ตัน

ส่วนการบริหารจัดการสต็อกข้าวของรัฐบาลขณะนี้ จะใช้วิธีการซื้อขายลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เท่านั้น โดยมีตลาดที่คาดว่าจะสนใจสั่งซื้อข้าวจากไทยหลายแห่ง อาทิเช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอิหร่าน ซึ่งจะเร่งเจรจาระบายข้าวในช่วงต้นฤดูกาลผลิต 3-4 เดือนนับจากนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย 950,000 ตัน และมีเป้าหมายทั้งปี 2553 ที่ 1.77 ล้านตัน

นอกจากนี้ จะให้มีการเจรจาซื้อขายลักษณะรัฐบาลกับเอกชน (จีทูพี) การแก้ไขปัญหาในตลาดส่งออกเดิม และเพิ่มการทำตลาดใหม่ อาทิเช่น ตลาดแอฟริกาเหนือ เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าถึงโดยตรงจากเดิมที่ซื้อผ่านโบรกเกอร์ข้าว พร้อมทั้งสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิ และข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ)

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จะลงพื้นที่เพื่อชี้แจงเกณฑ์การรับซื้อข้าวจากชาวนา และการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ให้ชาวนาเข้าใจ เพื่อให้การดำเนินการดูแลราคาข้าว ผลประโยชน์ตกแก่ชาวนาอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกหนักใจว่าการรับซื้อ อาจทำให้รัฐต้องแบกภาระสต็อกข้าวจำนวนมาก เพราะการรับซื้อและการชดเชยส่วนต่างรายได้ ตามระบบประกัน จะมีข้อมูลที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้แล้ว เป็นตัวกำหนดสิทธิที่เกษตรกรแต่ละคน จะสามารถนำข้าวเข้าร่วมโครงการได้ปริมาณเท่าใด

เกษตรฯ เร่งแจงชาวนาขึ้นทะเบียน

นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แม้ในขณะนี้ การขึ้นทะเบียนเกษตรกรยังไม่เสร็จสิ้น แต่เกษตรกรในเขตภาคเหนือและอีสานเริ่มเกี่ยวข้าวบ้างแล้ว ทำให้เกษตรกรบางส่วนสับสน ว่า จะได้รับสิทธิในโครงการประกันรายได้เกษตรกรครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่อธิบายทำความเข้าใจแล้ว โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว หรือมีการเกี่ยวข้าวหลังวันที่ 1 ต.ค. จะได้รับสิทธิดังกล่าว
นายโอฬาร กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเขตภาคเหนือ อีสานและกลางจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค. นี้ คาดว่าผลการขึ้นทะเบียน จะไม่ถึง 3.4 ล้านครัวเรือน ตามข้อมูลฐานของ 3 ภาค 62 จังหวัด โดยได้ดำเนินการไปพร้อมกับการประชาคมกลุ่มและอัดลงในแผ่นซีดี ส่งมอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงทะเบียนในลักษณะวันต่อวัน แต่เนื่องจากในบางพื้นที่เกษตรกรยังไม่พร้อม ทำให้การประชาคมต้องทำหลังจากนั้นคาดว่าต้นเดือน พ.ย.นี้จะแล้วเสร็จทั้งหมด

ยอดขึ้นทะเบียนชาวนา 3.1 ล้านครัวเรือน

สำหรับผลการขึ้นทะเบียนข้าวนาปี สิ้นสุดเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้บันทึกเข้าระบบไปแล้ว 3,163,980 ครัวเรือน หรือประมาณ 85.16% ของข้อมูลฐานทั้งประเทศ 76 จังหวัด พื้นที่ 52,554,858 ไร่ ผ่านการประชาคมและส่งให้ ธ.ก.ส. แล้ว 2,481,183 ครัวเรือน หรือ 66.78% ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว พื้นที่ 42,062,462 ไร่ แยกเป็นการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในเขตภาคกลาง ภาคเหนือ และอีสาน 3,141,935 ครัวเรือน หรือ 90.36% ของข้อมูลฐาน 3 ภาครวม 62 จังหวัด พื้นที่ 54,131,634 ไร่ ผ่านการประชาคมและส่งให้ ธ.ก.ส.แล้ว 2,479,147 ครัวเรือนหรือ 71.30% พื้นที่ 42,048,961 ไร่

สำหรับการขึ้นทะเบียนในเขตภาคใต้ จะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 2553 ในขณะนี้ ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 22,045 ครัวเรือน หรือ 9.25% ของข้อมูลฐาน จำนวน 14 จังหวัด พื้นที่ 32,642 ไร่ ผ่านการประชาคม และส่งให้ ธ.ก.ส. ไปแล้ว 2,036 ครัวเรือน หรือ 0.85% พื้นที่ 13,501 ไร่

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.