นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล ตามที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีสั่งการว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะหากล่าช้าไทยอาจเสียโอกาสได้ แต่กระทรวงพาณิชย์ยังสับสนว่า จะระบายในลักษณะใด เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าต้องการให้ระบายข้าวในสต็อกรัฐแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ก่อน แต่ นายกอร์ปศักดิ์ ต้องการให้ขายทั้งแบบจีทูจี และขายให้เอกชนด้วย
"ตอนนี้นโยบายยังไม่ชัดเจน คงต้องคุยกับรองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ ก่อนว่า จะขายแบบใด ส่วนราคาและปริมาณ คงต้องให้รองนายกฯกอร์ปศักดิ์เห็นชอบก่อน แล้วค่อยเสนอให้ ครม.พิจารณา ถ้ายังไม่เห็นด้วยก็ยังไม่เสนอ ครม.เพราะไม่อยากถูกเบรกอีกแล้ว เราพร้อมขายอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงราคาขึ้น แต่คงจะปล่อยออกทีละน้อยๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาภายในประเทศ"
ส่วนการระบายสต็อกสินค้าเกษตรอื่นๆ นั้น ในสัปดาห์หน้าจะให้ผู้ประกอบการเสนอซื้อแป้งมัน และมันเส้นในสต็อกรัฐบาล ซึ่งนายกอร์ปศักดิ์สั่งการให้ขายได้แล้ว
วางแผนรับมือข้าวอาฟตา
ส่วนมาตรการรับมือผลกระทบจากที่ไทยจะต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร 23 รายการ รวมถึงข้าว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 เป็นต้นไป ตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) นั้น นางพรทิวา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำมาตรการรับมือการนำเข้าข้าวเสร็จแล้ว ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก กขช.และ ครม.แล้ว เชื่อว่า สามารถรับมือการนำเข้าได้แน่นอน
ขณะเดียวกันก็จะนำค่าธรรมเนียมจากการนำเข้าข้าว มาตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือชาวนาด้วย ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำมาตรการรับมือ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ซึ่งเมื่อเสร็จแล้ว ก็จะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป จึงมั่นได้ว่าเกษตรกรไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุดแน่นอน
"เราเป็นห่วงเกษตรกรอยู่แล้ว การเปิดเสรีอาฟตา รัฐก็ต้องหามาตรการบริหารการนำเข้า เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ แต่การรับมือ ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์คนเดียว แต่เป็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่างการออกใบรับรองสุขอนามัย ใบรับรองการปลอดการตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) หรือการปลอดโรคก็เป็นของกระทรวงเกษตรฯ การตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้าก็กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งศุลกากร และหน่วยงานด้านความมั่นคง หากทุกหน่วยงานตรวจสอบอย่างเข้มงวดก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน" นางพรทิวา กล่าว
วอนชะลอระบายสต็อกรอราคาขึ้นอีก
นายชาญชัย รักษธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า โรงสีในพื้นที่ต่างๆ ประเมินว่าผลผลิตข้าวปี 2552/2553 จะลดลงอย่างต่ำ 10% เหลือเพียง 20 ล้านตัน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 23 ล้านตัน ซึ่งสวนทางกับผลสำรวจของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่คาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านตัน โดยสาเหตุที่ปริมาณลดลง เพราะพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวลดลง หลังจากราคาจำนำไม่จูงใจ เกษตรกรจึงหันไปเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิแทน แต่กลับเกิดปัญหาอากาศแล้งนานจนข้าวขาดสมบูรณ์ และบางพื้นที่ได้รับความเสียหายจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
"ผลผลิตชุดแรกออกมาขายประมาณ 30% แล้วส่วนที่เหลือจะเก็บไว้ตาก และเก็บสต็อก เพราะรัฐบาลจูงใจ โดยการเพิ่มอัตราค่าฝากเก็บมากขึ้น ทำให้ขณะนี้ข้าวเปลือกหายไปจากตลาด ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเร่งซื้อข้าวเปลือกในช่วงนี้ จึงต้องการให้รัฐบาลระบายสต็อกข้าว แต่ทางโรงสีเห็นว่ารัฐบาลควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด จะทำให้ชาวนาได้ประโยชน์สูงสุด วงการค้าข้าวมองว่าราคาข้าวมีโอกาสปรับขึ้นอีก เพราะความต้องการข้าวในตลาดโลกมีมาก ต้องรอลุ้นว่าปีหน้ามีโอกาสที่ข้าวเปลือก 1 ตัน จะเท่ากับทองคำ 1 บาท หรือไม่" นายชาญชัย กล่าว
ขอเพิ่มราคาประกันนาปรังข้าวปทุม
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในการประชุมอนุกรรมการข้าวแห่งชาติด้านผลผลิต ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วานนี้ สมาคมชาวนาเสนอให้ กขช.พิจารณาเพิ่มราคาประกันรายได้ข้าวหอมปทุมธานี 1 ในฤดูกาลนาปรังปี 2553 เป็น 1.2 หมื่นบาทต่อตัน จากราคาประกันข้าวนาปีฤดูกาลนี้กำหนดให้ 1 หมื่นบาทต่อตัน เนื่องจากเห็นว่าข้าวปทุมธานีเป็นข้าวคุณภาพของภาคกลาง ซึ่งควรจะมีระดับราคาสูงกว่าข้าวขาวทั่วไปที่รัฐบาลประกันรายได้ที่ 1 หมื่นบาทต่อตัน และยังขอให้ขยายปริมาณรับประกันต่อครัวเรือน เพิ่มจาก 25 ตัน เป็น 30 ตัน ซึ่งที่ประชุมของอนุกรรมการ กขช.เห็นพ้องให้นำเสนอคณะกรรมการ กขช.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับขึ้นทะเบียนชาวนาผู้เพาะปลูกข้าวนาปรังในวันที่ 1 ม.ค. นี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการประชาคมให้เร็วและสามารถทำสัญญาประกันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ไม่เกินเดือนเม.ย. ในช่วงที่ข้าวเข้าสู่ตลาด
"ราคาข้าวตอนนี้ไม่น่าห่วงไปถึงเดือนม.ค. ปีหน้า ยืนพื้นที่ระดับ 1.1-1.2 หมื่นบาทแน่นอน แต่เราต้องวางแผนสำหรับฤดูกาลใหม่แล้ว เพื่อปิดจุดอ่อนโครงการประกันรายได้ข้าวนาปี ซึ่งมีปัญหาขลุกขลักบ้างจากความไม่พร้อม แต่มีแนวโน้มดี" นายประสิทธิ์ กล่าว
รัฐจ่ายชดเชยประกันแล้ว3.8พันล้าน
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตร ว่า ผลการดำเนินงานโครงการ ณ วันที่ 26 พ.ย. 2552 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 388,070 ราย ผ่านการทำประชาคม 387,300 ราย มีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 204,919 ราย วงเงิน 3,287 ล้านบาท ส่วนมันสำปะหลัง มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 437,496 ราย ผ่านการทำประชาคม 428,831 ราย มีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 3,629 ราย วงเงิน 30.19 ล้านบาท
ส่วนข้าวเปลือกนาปี 2552/2553 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 3,250,000 ราย ผ่านการทำประชาคม 3,127,621 ราย มีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 39,650 ราย วงเงิน 522.897 ล้านบาท รวมวงเงินที่รัฐบาลจ่ายชดเชยไปทั้งสิ้น 3,840.21 ล้านบาท รวมจำนวนเกษตร 248,198 ราย
เร่งระบายสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แห่งชาติ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ไปกำหนดยุทธศาสตร์การระบายข้าวโพด ในสต็อกรัฐบาล ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
ทั้งนี้ในส่วนปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในโครงการประกันรายได้ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คาดว่าจะมีทั้งหมด 6 ล้านตัน น่าจะเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และรัฐบาลจะยังไม่รีบขายสินค้าส่วนนี้ เพราะต้องการให้ผู้ประกอบการไปซื้อสินค้า จากเกษตรกรโดยตรง แทนที่จะรอซื้อสินค้าจากรัฐบาลเหมือนในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับ ข้าวโพดในโครงการรับจำนำเดิม ที่เหลืออยู่จำนวน 3 แสนตัน ซึ่งรัฐบาลรับจำนำในราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 8.50 บาท และพบว่ามีการนำข้าวโพด จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กำหนดนโยบายไว้ชัดเจนว่า จะต้องส่งออกไปต่างประเทศเท่านั้น และในขั้นตอนการขาย หากพบสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาสวมรอย จะมีการสืบสวนหาผู้รับผิดชอบอีกครั้งหนึ่ง
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สอบถามผู้จัดการสาขาต่างๆ ของ ธ.ก.ส. พบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับการประกันราคาข้าวเปลือก เนื่องจากขณะนี้ราคาตลาดอ้างอิงที่ประกาศระหว่างวันที่ 16 และ 30 ทุกเดือน มีส่วนต่างสูงมาก โดยขณะนี้สูงถึง 2,000 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรกรมักรอทำสัญญาในช่วงวันที่ 30 เพื่อใช้สิทธิประกันราคารับส่วนต่างวันที่ 1
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ จะนำเรื่องดังกล่าวหารือที่ประชุมครม.เร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดการใช้สิทธิประกันราคาให้ชัดเจน แต่ขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับสูงขึ้น จึงส่งผลดีต่อเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น โดยเชื่อว่างบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้ในการประกันราคาสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิด จะเพียงพอ โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าใช้นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรต่อไป เพื่อปรับปรุงมาตรการและแนวทางต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|