นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า กรมได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ว่าอิหร่านมีความต้องการนำเข้าข้าวสูงมากถึงปีละ 1.6 ล้านตัน ที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่าน มอบหมายให้หน่วยงานจัดซื้อ GOVERNMENT TRADING CORPORATION (GTC) เป็นผู้ผูกขาดการนำเข้าข้าวผ่านการประมูล ซึ่งไทยเคยได้ส่งออกข้าวขาว 100% ชั้น 2
ขณะนี้รัฐบาลอิหร่านเปลี่ยนนโยบายจากที่ให้ GTC ผูกขาดการนำเข้า มาสนับสนุนให้เอกชนนำเข้า โดยลดภาษีการนำเข้าข้าวทุกชนิดจากเดิม 140% เหลือ 4% เพื่อสร้างแรงจูงใจในการนำเข้าข้าว
"ขณะนี้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดข้าวในอิหร่านน้อยมาก ทำตลาดได้เพียงตลาดล่างข้าวขาว 100% ชั้น 2 กก.ละ 1.3 ดอลลาร์ เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ซึ่งรัฐบาลอิหร่านให้การอุดหนุนให้เป็นข้าวราคาถูก สำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย แต่ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของไทย ทำตลาดในอิหร่านน้อยมาก" นางศรีรัตน์ กล่าว
กรมเห็นว่าข้าวหอมมะลิไทย น่าจะสามารถทำในตลาดในอิหร่านได้อีกมาก โดยจุดอ่อนของข้าวหอมมะลิ คือ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและไม่ถูกปากชาวอิหร่าน ที่สำคัญข้าวไทยติดภาพลักษณ์ในข้าวคุณภาพต่ำ
นางศรีรัตน์ กล่าวว่า กลยุทธ์ในการเจาะตลาดข้าวหอมมะลิในอิหร่าน ควรเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นชนชั้นกลางในอิหร่าน โดยเปิดตลาดข้าวหอมมะลิในฐานะทางเลือกใหม่ ที่แตกต่างจากข้าวหอมอิหร่านและข้าวบาสมาติจากอินเดีย และกำหนดตำแหน่งทางการตลาด ให้แข่งขันกับข้าวบาสมาติจากอินเดีย แต่ราคาถูกกว่าเล็กน้อย และใช้แบรนด์เนมของไทยเป็นเครื่องมือในการเปิดตลาด เปลี่ยนภาพลักษณ์และสร้างความแตกต่างของสินค้าให้ชัดเจน เช่น เน้นคุณค่าทางอาหารของข้าวหอมมะลิเป็นจุดขาย รวมถึงแสวงหาผู้นำเข้าที่พร้อมจะทำตลาดภายใต้แบรนด์ไทย
นอกจากนี้ข้าวหอมมะลิควรบรรจุในถุงขนาดเล็กประมาณ 5-10 กก. เพื่อจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านขายปลีกทั่วไป ในระยะยาว ควรทำการวิจัยและพัฒนาพันธ์ วิธีเก็บ รวมทั้งวิธีสีข้าวข้าวหอมมะลิไทยให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของผู้บริโภคชาวอิหร่าน เช่น ร่วนซุย ขาว หอม และมีเมล็ดยาว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |