นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในอนาคตเมื่อเปิดเสรีนำเข้าข้าวจากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา อาจส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าข้าวที่มีการตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ จากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิข้าวไทย โดยเฉพาะการส่งออก หากพบว่ามีข้าวจีเอ็มโอปนกับข้าวที่ส่งออกจากประเทศไทย ปัญหาจะตามมาอีกมาก
“ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีการปลูกข้าวจีเอ็มโอ ดังนั้นในเรื่องนี้อาจจะต้องมีการออกเป็นกฎหมายเพื่อให้อำนาจทหารเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ร่วมในการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าข้าวบริเวณด่านตามแนวชายแดนด้วย เพื่อป้องกันปัญหานี้” นายประเสริฐ กล่าว
นายอภิชาติ จงสกุล โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตร เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมพิจารณาการเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้ความตกลงอาฟตา โดยให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือหน่วยงานหลักของกระทรวงที่เกี่ยวข้องในแต่ละรายสินค้าหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายอภิชาติ กล่าวว่า จำเป็นต้องเร่งหารือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจขึ้นจากการประกาศลดอัตราภาษีสินค้าตามข้อผูกพันอาฟตาเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553
“มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รวบรวมมาตรการทั้งหมดนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ภายในเดือนก.ย. 2552 และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบก่อนประกาศใช้ต่อไป” นายอภิชาติ กล่าว
สำหรับประเทศไทยมีสินค้าที่ผูกพันตามข้อตกลงอาฟตาจำนวน 23 รายการ ได้แก่ น้ำนมดิบ/นมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ลำไยแห้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง พริกไทย ข้าว เมล็ดถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม มะพร้าวผล น้ำมันมะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง ชา เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ไหมดิบ น้ำตาล และใบยาสูบ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 ตามข้อตกลงการค้าอาเซียน ประเทศไทยจะต้องลดภาษีสินค้าลงเหลือ 0% ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว 3 ชนิด คือ มันฝรั่ง เนื้อมะพร้าวแห้ง และเมล็ดกาแฟ ซึ่งจะลดภาษีลงเหลือ 5%
แนวทางการออกมาตรการที่ สศก.รวบรวม จะเน้นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้า การกำหนดผู้นำเข้า การเข้มงวดในการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าการออกมาตรการต่างๆ จะช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสินค้าเกษตรและเกษตรกรของไทย ภายหลังการประกาศลดภาษีตามข้อตกลงดังกล่าว
ที่มา โพสต์ทูเดย์ |