แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณาการประกันรายได้เกษตรกร ว่าได้มีการหารือถึงนโยบายประกันราคาข้าวว่าขณะนี้เริ่มเกิดความขัดแย้งหนักเกี่ยวกับการดำเนินการ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งทำให้ราคาข้าวตกต่ำ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลการจดทะเบียนเกษตรกรสามารถดำเนินการได้กว่า 3 ล้านราย หรือประมาณ 75% ปรากฏมีการแจ้งผลผลิตข้าวนาปีสูงถึง 30 ล้านตัน ทั้งๆ ที่ตามข้อมูลผลผลิตปกติจะอยู่ที่ 23 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวที่แจ้งไว้ยังต้องมีการตรวจสอบ
"วันนี้จดทะเบียนเกษตรกรได้ 75% แจ้งผลผลิต 30 ล้านตัน หากจดทะเบียนเกษตรกรครบ 100% คาดว่าตัวเลขผลผลิตคงจะเพิ่มขึ้น ไม่มั่นใจว่าเป็นตัวเลขที่แจ้งถูกต้องหรือไม่ ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำขณะนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล เกิดจากความผิดพลาดนโยบายประกันราคาที่รัฐบาลตั้งไว้สำหรับข้าวขาว 10,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 15,300 บาทต่อตัน ข้าวหอมจังหวัด 14,800 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานีตันละ 10,000 บาท ในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรขายได้ในราคาที่ต่ำมาก เนื่องจากข้าวมีความชื้นสูงประกอบกับพ่อค้ากดราคารับซื้อจากเกษตรกร
แม้ว่าพ่อค้าจะกดราคารับซื้อเหลือเท่าไร ส่วนต่างรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายส่วนเกินให้เกษตรกร "เงื่อนไขตรงนี้เป็นเหตุทำให้เกิดการทุบราคารับซื้อข้าว เพราะภาระที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบจ่ายส่วนต่างทันที ขณะนี้ไม่ต่ำกว่าตันละ 3,000-5,000 บาท เรื่องนี้ก่อนใช้นโยบายประกันราคา มีการทักท้วงกันพอสมควรเนื่องจากความไม่พร้อม แต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลกลับไม่เห็นด้วย ต้องการผลักดันให้เป็นนโยบาย เพื่อยกเลิกการแทรกแซงราคาข้าว ทั้งๆ ที่นโยบายแทรกแซง น่าจะช่วยดันราคาข้าวในตลาด ความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาเป็นเพราะการเมืองเข้าไปแทรกแซง ขณะที่รัฐบาลขายข้าวราคาถูกมากกว่า" แหล่งข่าวระบุ
อดีตรมช.พาณิชย์อัดประกันสูญเปล่า
พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะพ่อค้าข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเกิดจากความไม่เข้าใจของรัฐบาลที่ประกาศใช้ประกันราคา โดยที่ยังไม่มีฐานข้อมูลชัดเจน "ผมมั่นใจว่านโยบายการประกันราคาข้าวรัฐจะต้องสูญเสียเงินมากกว่าการแทรกแซงราคาแน่นอน หากเป็นอย่างนี้ไม่ต่างอะไรกับการแจกเงิน"
พ.ต.ท.บรรยิน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเข้าทางพ่อค้าที่ซื้อข้าวในประเทศราคาถูกแต่ส่งออกได้ราคาสูง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เชื่อว่าการประกันราคาจะเสียหายมากกว่าการแทรกแซงราคาแน่นอน ขณะนี้เริ่มมีข้อมูลตัวเลขที่ออกมาผิดปกติ เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา โดยตัวเลขการขึ้นทะเบียนของสินค้า 3 ชนิดที่รัฐบาลประกันราคามีตัวเลขสูงขึ้นผิดปกติ มันสำปะหลังจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปกติขึ้นทะเบียนอยู่ 5 หมื่นราย แต่ขณะนี้สูงถึง 4 แสนราย เนื่องจากได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 7.10 บาท ส่วนข้าวโพดปกติขึ้นทะเบียนอยู่กว่า 1 หมื่นรายเพิ่มเป็น 3.9 หมื่นราย ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงมาก
"ผมว่าเร็วๆ นี้ คงมีม็อบเกษตรกรเดินทางมาประท้วงเรื่องราคาสินค้าแน่นอน สุดท้ายกลายเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาลได้ หากไม่เร่งดำเนินการ"
ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำไม่ได้เกิดจากโรงสี แต่เกิดจากผู้ส่งออกเป็นผู้ตั้งราคารับซื้อ และควบคุมกลไกตลาด ราคาในประเทศอยู่ที่ผู้ส่งออกไม่ใช่โรงสี
"ผมว่าวันนี้รัฐบาลต้องตรวจสอบแล้วปัญหาอยู่ที่ไหน ไม่เช่นนั้นราคาข้าวจะลดลงต่อเนื่อง สุดท้ายรัฐบาลต้องเป็นผู้รับภาระในปริมาณที่สูงแน่นอน ผู้ส่งออกไม่เสียหาย ชาวนาเองก็ได้ชดเชยส่วนต่าง"
ชาวนาโอดข้าวร่วงหนักอยู่ที่5,800บาท
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวถึงราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ขณะนี้ กรณีที่เป็นข้าวเปลือกแห้งความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ตันละ 7,500 บาท แต่เนื่องจากเกษตรกรไม่มียุ้งฉางเพื่อจัดเก็บ จึงขายในรูปของข้าวสดที่มีความชื้นประมาณ 20% เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกความชื้นสูงถึง 25% ราคาจึงตกต่ำอยู่ที่ตันละ 5,800 บาท
กรณีที่ข้าวเปลือกมีความชื้นเกิน 15% โรงสีจะหักค่าความชื้น 15 กิโลกรัมต่อเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าข้าวที่มีความชื้น 25% ข้าวจะถูกหักทิ้งไป 150 กิโลกรัมต่อเปอร์เซ็นต์ หากฝนตกหนักและเกษตรกรมีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้าว เนื่องจากข้าวเริ่มสุกปล่อยทิ้งไว้จะร่วง ทำให้ข้าวมีความชื้นสูงถึง 30% เท่ากับว่าเกษตรกรต้องถูกหักค่าความชื้นมากขึ้น
จี้ทูตพาณิชย์หาตลาดระบายข้าว
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ เร่งหาตลาดข้าว เพื่อให้ส่วนกลางเตรียมความพร้อมเข้าไปทำตลาด วิธีการนี้ทำให้การบุกตลาดเห็นผลแท้จริง
“ได้คุยกับอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ถึงการปรับการทำงานหลักๆ จะให้ทูตพาณิชย์หาตลาดสินค้า 10 อันดับส่งออกสูงสุด ส่งกลับเข้ามา เพื่อจะได้เข้าไปทำตลาดให้เห็นผลมากขึ้น” นางพรทิวา กล่าว
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า หลังจากที่รมว.พาณิชย์ สั่งให้ทูตพาณิชย์หาตลาดข้าวในแต่ละประเทศ ล่าสุดทูตพาณิชย์ไทยประจำประเทศจีน แจ้งว่าจีนมีความต้องการซื้อข้าวฤดูกาลใหม่ปี 2552/2553 จากไทย 4 แสนตัน เป็นข้าวหอมมะลิ 1 แสนตัน ข้าวขาว 100% อีก 2 แสนตัน และข้าวเหนียวอีก 1 แสนตัน เชื่อว่าความต้องการซื้อจากประเทศอื่นๆ จะมีเข้ามาอีกมาก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกข้าวได้ ส่วนที่รัฐบาลก็จะเริ่มตั้งโต๊ะรับซื้อจากเกษตรกรวันที่ 2 พ.ย. นี้แน่นอน
“กรมฯ จะนำภาคเอกชนไปหาตลาดในต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ราคาภายในมีเสถียรภาพ ส่วนข้าวเก่าในสต็อกรัฐบาลเก็บเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร” นางสาวชุติมา กล่าว
มั่นใจราคาข้าวปีหน้าพุ่งแน่
ส่วนแนวโน้มราคาข้าวฤดูกาลใหม่ คาดว่าราคาน่าจะสูงขึ้นกว่าราคาประกัน เนื่องจากผลผลิตลดลง 10% ส่วนผลผลิตโลกก็ลดลง 3-4% จากปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง ขณะที่น้ำมันราคามีแนวโน้มสูงขึ้น ดึงให้ราคาสินค้าเกษตร และพืชพลังงานสูงขึ้นด้วย
ราคาข้าวเปลือกในตลาดไม่ได้ตกต่ำโดยข้าวเปลือกแห้งความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 8,400-8,500 บาท ใกล้เคียงกับราคาอ้างอิง ส่วนที่ตันละ 5,000-6,000 บาท เป็นข้าวเปียกความชื้นสูงกว่า 30%
ผู้ส่งออกปัดไม่ซื้อข้าวฉุดราคาร่วง
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาส่งออกข้าวล่าสุดเริ่มทรงตัว หลังจากที่รัฐบาลประกาศรับซื้อ แต่ภาพรวมตลาดยังรอดูสถานการณ์และทิศทางนโยบายข้าวของรัฐบาลต่อเนื่อง ส่วนข้อหาที่ว่าผู้ส่งออกไม่ยอมซื้อข้าว ส่งผลให้ราคาตกต่ำต่อเนื่อง ไม่เป็นความจริงเพราะตลาดต่างประเทศในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. จะซบเซาอยู่แล้ว และคาดว่าช่วงเดือนพ.ย. ตลาดจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพื่อต้อนรับข้าวฤดูกาลใหม่ที่จะออกสู่ตลาด
ทั้งนี้ราคาข้าว ณ วันที่ 28 ต.ค. เท่ากับราคาข้าวเมื่อ 21 ต.ค. ที่ผ่านมาเกือบทุกรายการ โดยข้าวหอมมะลิชั้น 1 ตันละ 1,059 ดอลลาร์ ข้าวขาว 100% ตันละ 525 ดอลลาร์ ยกเว้นข้าวขาว 25% ตันละ 416 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 414 ดอลลาร์ ข้าวนึ่งตันละ 571 ดอลลาร์ ปลายข้าวตันละ 301 ดอลลาร์ เพิ่มจากตันละ 295 ดอลลาร์
อคส.ดึง "จีจีเอฟ"โบรกเกอร์ขายข้าว
นายยงยศ ปาละนิติเสนา รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า อคส.จะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อนำมาผลิตข้าวสารบรรจุถุงขายในประเทศ และส่งออก ขณะนี้มีตลาดแล้ว เช่น ดูไบ การซื้อเป็นการทำธุรกิจของ อคส. ไม่ใช่การรับซื้อตามนโยบายรัฐบาล
“ตอนนี้ เรามีตลาดต่างประเทศแล้ว เช่น ดูไบ แต่น่าจะมีตลาดเพิ่มขึ้นอีก เพราะหลังจากทำสัญญากับบริษัท จีจีเอฟ ไทยแลนด์ โบรกเกอร์ขายข้าว อคส.จะหาข้าวจากในประเทศไปส่งออก อคส.จะได้ค่านายหน้า 2% ของมูลค่าข้าว เรื่องนี้ รมว.พาณิชย์เห็นชอบแล้ว เพราะเป็นการทำธุรกิจหารายได้เลี้ยงองค์กร หลังจากเสียรายได้จากการไม่มีโครงการรับจำนำ 300 ล้านบาท” นายยงยศ กล่าว
การทำสัญญากับบริษัท จีจีเอฟ ยืนยันไม่ผิดกฎหมาย หรือระเบียบของรัฐวิสาหกิจ ส่วนการที่จีจีเอฟ จะสร้างไซโล เก็บสินค้าเกษตรในไทย และให้ อคส.เช่านั้น ถือว่า อคส.ได้ประโยชน์ เพราะในสัญญาได้ตกลงค่าเช่าที่ 41 บาทต่อตันต่อเดือน และจ่ายเงินตามจริง หากฝากเก็บเพียง 1 ตัน ก็จ่าย 1 ตัน หากไม่มีการฝากเก็บก็ไม่ต้องเสียค่าเช่า โดยอัตราที่ 41 บาทนั้น เป็นอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|