www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

อคส.ถกรับมือพ่อค้าข้าว1มิ.ย. ล็อบบี้"พงษ์ลาภ"ชะลอฟ้อง


แหล่งข่าวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่มีนายวิวัฒน์ เลาหพูนรังษี เป็นประธาน วันที่ 1 มิ.ย.นี้ จะมีการหารือในประเด็นเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายข้าวกับเอกชน หลังมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นว่า ผู้ซื้อที่ชนะประมูลสามารถฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายจาก อคส.ได้ในกรณีใดบ้าง และผู้ซื้อไม่สามารถฟ้องร้องต่อรัฐในกรณีใดบ้าง ซึ่งจะมีการวิเคราะห์รายละเอียดของสัญญาทั้งหมด และประเมินแนวทางว่า อคส.จะต้องรับผิดชอบหรือไม่ต้องรับผิดชอบอย่างไรได้บ้าง ในกรณีใด

นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า ตนได้ติดต่อไปยัง อคส. เพื่อสอบถามถึงการรับมอบข้าวที่ประมูลได้ ซึ่งทาง อคส. ขอเวลา 1-2 วัน ในการดำเนินการก่อน ถึงจะให้คำตอบว่าจะสามารถให้เอกชนเข้าไปรับมอบข้าวได้หรือไม่ โดยขณะนี้ทางบริษัทได้รับการติดต่อจากบุคคลระดับสูงทางฝ่ายการเมืองขอให้ชะลอการดำเนินคดีตามกฎหมายในโกดังอื่น ที่ยังไม่ได้แจ้งความไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนในเรื่องนี้

แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงได้เริ่มเจรจาไกล่เกลี่ยกับเอกชนที่ชนะการประมูลแล้ว และส่วนใหญ่ยืนยันว่าต้องการให้รัฐบาลอนุญาตขนย้ายข้าวตามที่ตกลงไว้ ไม่เช่นนั้นจะใช้สิทธิฟ้องร้องรัฐบาล เพราะครั้งนี้รัฐมีข้าวอยู่ แต่ไม่อนุญาตให้เอกชนขนย้าย ถือว่าไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่มีข้าว ทำให้เอกชนได้รับความเสียหาย อีกทั้งการประมูลครั้งนี้ทำอย่างถูกต้องตามทุกขั้นตอนทุกอย่าง หากนายกรัฐมนตรีมองว่าการประมูลไม่โปร่งใสน่าจะสอบสวนหาผู้กระทำผิด ไม่ใช่มาชะลอหรือล้มประมูล

นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าจะมีการอธิบายผลดี ผลเสีย ทางออกของการประมูลข้าวครั้งนี้ โดยเฉพาะหากมีการสั่งให้เปิดประมูลใหม่ และได้ราคาต่ำกว่าเดิมรัฐบาลจะหาทางออกอย่างไร เนื่องจากทิศทางราคาข้าวตลาดโลกเริ่มลดลง รวมถึงผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประเทศ กับผู้ซื้อขายสินค้ากับชาวต่างชาติด้วย

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจดูแลสินค้าเกษตรทั้งระบบ กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพราะต้องรอคำสั่งจากนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ อย่างเป็นทางการก่อน เพียงแต่ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งเป็นภารกิจปกติของกรมอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการประมูลสต็อกข้าวรัฐบาลนั้น ยังไม่ทราบเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่ทาง อคส.ดำเนินการมาก่อน จึงต้องรอนโยบาย

กอร์ปศักดิ์เบรกคอนแทรคฟาร์มมิ่งข้าวโพด

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยว่า หลังประชุมวานนี้ (29 พ.ค.) ว่า คณะกรรมการมีมติให้ยกเลิกโควตาการนำเข้าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 4 แสนตัน ในปี 2552 ตามโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ที่รัฐบาลในอดีตทำไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดให้นักธุรกิจไทย เข้าไปลงทุนปลูกพืชสินค้าเกษตร
สาเหตุที่ต้องยกเลิกโควตาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปริมาณข้าวโพดในประเทศ ไม่ได้ขาดแคลนเหมือนในอดีต ตรงกันข้ามกลับมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังได้รายงานด้วยว่าการเข้าไปลงทุนปลูกพืช ของนักธุรกิจไม่มีอะไรมาก นอกจากการให้เมล็ดพันธุ์กับเกษตรกรไปปลูกซึ่งช่วงปี 2553 ตามกรอบเจรจาการค้าสินค้าเกษตร ก็จะเปิดเสรีการนำเข้าอยู่แล้ว จึงได้ให้กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไปพิจารณารายละเอียดว่าสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงสินค้าเกษตรประเภทอื่นๆ ด้วย

ใช้ระบบประกันราคาข้าวโพดแทนจำนำ

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณากำหนดราคาประกันข้าวโพดล่วงหน้า ภายใต้แนวทางการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรรูปแบบใหม่ ทดแทนโครงการรับจำนำในอดีต เช่นเดียวกับสินค้ามันสำปะหลัง ที่ได้ประกาศราคาประกันล่วงหน้าไปแล้ว ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าเกษตรกรจะต้องไม่ขาดทุน

คณะกรรมการนโยบายข้าวโพด ได้ให้กระทรวงเกษตรฯ ไปสำรวจต้นทุนการผลิตสินค้าชนิดนี้ ที่แท้จริงว่าอยู่ที่ราคาเท่าไร และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วางแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลเกษตรกร ที่จะเข้าร่วมโครงการว่า มีจำนวนเท่าไร มีผลผลิตผลิตจริงเท่าไหร่ โดยให้เวลา 2 เดือน ก่อนนำกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้ง

“เชื่อว่าการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรรูปแบบใหม่ ช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตได้ดีกว่า การรับจำนำแบบเดิม เราไม่ต้องไม่กังวลเรื่องการเก็บรักษาสินค้าอีกต่อไป เพราะสินค้าจะอยู่ที่เกษตรกรเองไม่ต้องกังวลว่าจะมีสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาปะปน” นายกอร์ปศักดิ์ ระบุ

เมินเอกชนถอนตัวประมูลซื้อข้าวโพด

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวถึงการระบายข้าวโพดในสต็อกรัฐบาล จำนวน 4 แสนตัน จากปริมาณทั้งหมด 1 ล้านตัน ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลให้รับทราบว่า ผู้ส่งออกที่ชนะการประมูล 2 ราย ได้ทำหนังสือแจ้งขอคืนหลักประกันสัญญา และขอถอนตัว จากการประมูลแล้ว ส่วนผู้ส่งออกอีก 1 ราย คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะข้าวโพดที่ประมูลได้ไปมีแค่ 6 หมื่นกว่าตัน น่าจะทำหนังสือแจ้งขอถอนตัวเร็วๆ นี้เช่นกัน

“การระบายข้าวโพดในสต็อกรัฐบาลครั้งต่อไป คงต้องรอให้คณะกรรมการชุดที่มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ วางแนวทางการระบายที่ชัดเจน ออกมาก่อน แต่ที่ประชุมครั้งนี้ ได้กำหนด หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า สินค้าที่ประมูลครั้งไป ต้องส่งออกไปต่างประเทศจริง ถ้าจะเหลืออยู่ก็จะอนุญาตให้แค่อยู่ในมือสหกรณ์กลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการซื้อเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น” นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าการประมูลข้าวโพดครั้งใหม่ อาจขาดทุนกว่าพันล้านบาท ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งโทษกัน ว่าใครต้องรับผิดชอบ ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ราคาการระบายอยู่ที่เท่าใด รัฐบาลจะขาดทุนจริงๆ เท่าไร ต้องใช้เวลาสักระยะจึงสามารถบอกได้ แต่ถ้าเรามีวิธีการขายที่ดี อาจจะไม่ขาดทุนมาก

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ ไปปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการมีมติให้ส่งเรื่องตีความอำนาจการระบายข้าวโพดของคณะทำงาน ชุดที่แต่งตั้ง ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว พบว่า ต้องใช้เวลาประมาณ กว่า 6 สัปดาห์ ถึงจะนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ได้ ต่อไปควรจะต้องทำงานให้ดีกว่านี้


“การระบายข้าวโพดในสต็อกรัฐบาลขณะนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือเรื่องคุณภาพของสินค้าที่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร วันที่ 30 พ.ค.นี้ ผมจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบโกดังสินค้า ที่ อ.แม่สอด และจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยตนเอง เพื่อดูว่าสินค้าที่เก็บไว้มีสภาพเป็นอย่างไร” นายกอร์ปศักดิ์ ระบุ

เอกชนโวยเลิกโควตาเสียหายหนัก

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กล่าวว่า หากรัฐยกเลิกโควตาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้าน จะทำให้ผู้ที่เข้าไปลงทุนคอนแทรคฟาร์มมิ่งประสบปัญหาทันที ก็ต้องออกมาเรียกร้องต่อรัฐ เพราะกลุ่มนี้จะเข้าไปลงทุนเพื่อส่งออกสินค้ามายังไทย ผ่านการสนับสนุนให้มีการลงทุนในกรอบความร่วมมือต่างๆ

ส่วนความเสียหายต่อผู้ใช้ภายในประเทศ ไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตภายในเพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว ประกอบกับระดับราคาปีนี้ไม่สูงมากช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด เดือนก.ค.-พ.ย.2552 แต่ระดับราคาจะไม่ตกต่ำจนเกินไป เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวโพด

นายพรศิลป์ กล่าวว่า การใช้วิธีดังกล่าวแม้จะดำเนินการได้ เพราะไทยใช้ข้ออ้างการดูแลเกษตรกรภายในประเทศ ในการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้าที่มีระหว่างประเทศ แต่เป็นวิธีที่ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะการนำเข้าข้าวโพดจริง ตามที่ขอนำเข้าจะทราบแหล่งที่มาและการนำไปใช้ชัดเจน แต่ปัญหาปัจจุบัน คือ ในขั้นปฏิบัติการพิจารณาขออนุญาตเพื่อนำเข้าข้าวโพดภายใต้คอนแทรคฟาร์มมิ่ง จะไม่ตรงกับช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้การใช้ประโยชน์จริงไม่ได้มากเท่าที่ควร ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงไปใช้ข้อตกลงอื่นๆ แทน เพื่อให้ไทยภาษี 0% จากอัตราปกติเฉลี่ย 5%

“วิธีการนี้ง่ายที่สุดที่จะทำได้ แต่ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ น่าจะเข้มงวดการนำเข้า ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อทราบปริมาณและการนำไปใช้อย่างชัดเจนก่อนกำหนดแผนบริการจัดการ เพราะที่สุดแล้วถ้าผลผลิตเพื่อนบ้านมีมาก ก็จะมีการลักลอบเข้ามาซึ่งปัญหาจริงๆ ของเรื่องข้าวโพดมาจากจุดนี้มากกว่า” นายพรศิลป์ กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.