www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

"อลงกรณ์"สั่งทป.คุ้มครองยีนคุมความหอมข้าวมะลิ


นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) ไปดำเนินการรับจดยีนควบคุมความหอมข้าวมะลิตามที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยื่นมา แต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงเทคนิคในการรับจด เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิบัตรที่มีอยู่ ซึ่งนางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้สั่งการให้นายทะเบียนของกรมแนะนำ สวทช.ในการเข้ารับจดคุ้มครองแล้ว ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้ยีนควบคุมความหอมข้าวหอมมะลิในทางกฎหมายโดยเร็วที่สุด

“วันนี้ผมได้เชิญทางอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามาหารือ และให้นโยบายไปว่าจะต้องรับจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชและสัตว์ไทยทุกชนิด เพราะสหรัฐยังจดให้ได้ ทำไมไทยจะจดไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายก็หลักเกณฑ์เดียวกันทั่วโลก เพียงแต่อาจต้องมีการปรับปรุงถ้อยคำในการจด ซึ่งเป็นเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น“นายอลงกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ สวทช.เข้าใจและคงจะยื่นเรื่องกลับมาเร็วๆ นี้ เพราะตามนโยบายของตนและเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องดูแลและคุ้มครองทรัพย์สมบัติของชาติ โดยเฉพาะพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ของไทยที่มีหลากหลาย จะต้องได้รับการคุ้มครองทั้งหมด ไม่ใช่ให้ประเทศอื่นจด แต่ประเทศไทยเองกลับไม่รับจด เพียงแต่จะจดอย่างไรก็เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ภาครัฐต้องเข้าไปให้คำแนะนำช่วยเหลือ เพื่อให้สอดคล้องตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทย

สำหรับการจดสิทธิบัตรคุ้มครองยีนควบคุมข้าวหอมมะลิ สวทช.ได้ยื่นจดแล้ว 10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และไทย ซึ่งมีเพียงสหรัฐประเทศเดียวที่รับจดทะเบียนให้คุ้มครอง ขณะที่อีก 9 ประเทศกำลังรอตอบรับกลับมา

ก่อนหน้านี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพยายามคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยการสนับสนุนจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและเศรษฐกิจของชุมชนในชนบทอย่างยิ่ง กรมจะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ เพื่อจดทะเบียนจีไอให้ครบทั้ง 75 จังหวัดในปีนี้

ขณะนี้รับรองจีไอไปบ้างแล้ว เช่น ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ จ.สระบุรี ข้าวพันธุ์เหลืองปะทิว จ.ชุมพร ข้าวเหนียวเขาวง จ.กาฬสินธุ์ ร่มบ่อสร้าง จ.เชียงใหม่ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง จ.อุดรธานี และศิลาดล จ.เชียงใหม่

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.