นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรม-การนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (29ก.ค.) มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาประกันราคาข้าวเปลือก 2 ชนิด ได้แก่ กำหนดราคาประกันราคาข้าวหอมปทุมธานี 1
โดยกำหนดราคาประกันอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน และข้าวขาว กำหนดราคาประกันอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมจังหวัด ข้าวเหนียว และข้าวนาปรังนั้น ให้คณะอนุกรรมการด้านการผลิตไปพิจารณากำหนดราคาประกันข้าวใหม่ เนื่องจาก กขช. เห็นว่าราคาที่เสนอมานั้นสูงเกินไป และให้เสนอ กขช.ภายใน 2 สัปดาห์
ที่ประชุมเห็นชอบเงื่อนไขให้เกษตรกรเข้าโครงการประกันได้รายละไม่เกิน 20 ตัน จากที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ 16 ตัน ซึ่งน้อยเกินไป 16 ตัน เพราะที่ประชุมเห็นว่าหากจำกัดปริมาณการประกันราคาข้าวไว้ที่16ตันจะถือว่าน้อยเกินไปและกขช.มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาอ้างอิงและประกาศราคาข้าวอ้างอิงให้เกษตรกรได้รับทราบ
แหล่งข่าวจากที่ประชุม กขช. ระบุว่า คณะอนุกรรมการ กขช.ด้านการผลิตได้เสนอให้ที่ประชุม กขช.พิจารณาอนุมัติกำหนดราคาประกันข้าวเปลือก 5 ชนิด ตามมาตรการประกันราคาข้าวเปลือกปี 2552/2553 ได้แก่
1.ข้าวหอมมะลิ 105 +กข.15 กำหนดราคาประกันที่ 15,300 บาทต่อตัน
2.ข้าวหอมจังหวัดราคาประกันอยู่ที่ 14,800 บาทต่อตัน
3.ข้าวหอมปทุมธานี 1 ราคาประกันอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน
4.ข้าวขาว ราคาประกันอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน
5.ข้าวเหนียว ราคาประกันอยู่ที่ 13,400 บาทต่อตัน รวมถึงเสนอให้กำหนดราคาประกันข้าวเปลือกนาปรัง ที่ราคา 9,200 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาต้นทุนบวกค่าขนส่ง 200 บาท และ กำไร 30-40%
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า กขช.มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมการค้าภายใน เร่งประชาสัมพันธ์โครงการให้เกษตรกรรับทราบการดำเนินโครงการ และให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2552/2553 ระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ โดยให้สมัครเข้าร่วมโครงการทำข้อตกลงราคาตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ โดยกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิภายใน 4 เดือนนับถัดจากวันทำข้อตกลงและไม่เกินเดือน มี.ค.2553 ขณะที่โครงการมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ค.2552-ก.ค.2553
สำหรับการป้องกันการทุจริตในโครงการประกันราคานั้น ธ.ก.ส.จะใช้วิธีการให้ประชาคมในหมู่บ้านเป็นผู้ตรวจสอบตั้งแต่การปลูก การแจ้งผลผลิต และ ธ.ก.ส.จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบผลผลิตในขั้นตอนสุดท้าย เชื่อว่าจะช่วยป้องกันการทุจริตได้ และเชื่อว่า เมื่อมีการประชาสัมพันธ์โครงการแล้วจะมีเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าโครงการ
นายวัชระ กล่าวว่า กขช.ยังเห็นชอบการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก 6 มาตรการ ได้แก่
1.การเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าว โดยรัฐบาลชดเชยผลต่างดอกเบี้ยผ่านธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 3% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคานำตลาด
2.การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกในแต่ละจังหวัด
3.การผลักดันการส่งออกในช่วงต้นฤดู
4.การจำนำยุ้งฉางเกษตรกรในราคที่ต่ำกว่าราคาประกัน เช่น ตันละ 1,000 บาท หรือตามที่เห็นเหมาะสม 5.การแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกโดย อคส. อ.ต.ก. หรือสถาบันเกษตรกร กำหนดราคา Floor Price ต้องไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท และ 6.การเพิ่มปริมาณการสต็อกข้าวของผู้ส่งออก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|