www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

รัฐบาลแจงสภาฯ มีมาตรการประกันราคาข้าวชัดเจน


การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงบ่ายวันที่ 29 ต.ค. ซึ่งมี นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องนโยบายประกันราคาข้าวและการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งเป็นกระทู้ที่เลื่อนมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์

นายภราดร กล่าวว่า หากยังมีนโยบายประกันราคาข้าวต่อไป รัฐบาลและเกษตรกรต้องได้รับความเสียหายมากขึ้น เพราะระหว่างการเปลี่ยนถ่ายนโยบายจากจำนำมาเป็นประกัน ได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย  อาทิ ราคาข้าวอ้างอิงที่ประกาศกับราคาประกันที่จะจ่าย  อยากทราบว่าในส่วนที่ไปขายแล้วไม่ได้ตามที่ราคาอ้างอิง จะแก้ไขปัญหาอย่างไร  และไม่แน่ใจว่ามาตรการเสริมจะประกาศได้ชัดเจนเมื่อใด ค่าความชื้นควรอยู่ในระดับใดกันแน่ จึงอยากทราบว่าข้าวอายุสั้นจะสามารถอะลุ้มอล่วยได้หรือไม่ และเกษตรกรสามารถจะนำข้าวไปขายจริง ๆ ได้เมื่อใด

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า มาตรการเสริม คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงินแล้ว มีเป้าหมายที่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก และนนทบุรี ที่มีผลผลิตข้าวออกมามาก ส่วนที่ข้าวที่มีอายุน้อยกว่า 90 วันนั้น จะให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติพิจารณา แต่ไม่สามารถนำเข้าโครงการนี้ได้ แต่จะช่วยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรนำไปปลูกข้าวครั้งต่อไป

ขณะที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเสริมว่ามีขบวนการกดราคาซื้อถูกขายแพง  ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการชัดเจนที่จะเริ่มปฏิบัติจากนี้ไปคือ 1.จะประกาศราคาอ้างอิงทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือน แยกตามรายจังหวัดอย่างชัดเจน หากราคาอ้างอิงต่ำกว่าราคาประกัน เกษตรกรก็สามารถเบิกส่วนต่างได้ 2. ค่าความชื้นที่เป็นธรรม ได้กำชับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้มีบัญชีแนบท้ายด้วยว่า ความชื้นแต่ละช่วงควรจะซื้อที่ราคาเท่าใด

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเกษตรกรมาลงทะเบียนสูงถึง 2 ล้านคน จึงจะมีโรงสีอยู่ในโครงการ 330 แห่ง แยกเป็นภาคเหนือ 13 แห่ง กลาง 117 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 200 แห่ง หากพ่อค้าไม่ซื้อตามที่ราคาอ้างอิง ก็ขอให้มาขายกับโรงสีที่อยู่ในโครงการของรัฐบาล หากพ่อค้ากดราคาอย่าขาย เพราะรัฐบาลมีคนที่จะรับซื้อของเกษตรกร

ด้าน นายภราดร ถามต่อว่า หากรัฐบาลรับซื้อจำนวนไม่อั้นตามราคาอ้างอิง ในที่สุดจะกลับไปสู่โครงการรับจำนำราคาข้าวเหมือนเดิมหรือไม่ ส่ วนการจะตั้งโต๊ะซื้อข้าวจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่นั้น จะเกิดการเหลื่อมล้ำกันแต่ละจังหวัด เนื่องจากในแต่ละวันจะมีผลผลิตข้าวทุกวัน  และเมื่อรับซื้อแล้วจะนำผลผลิตไปเก็บไว้ที่ไหน จะเกิดสตอกลมหรือไม่ เพราะราคาอ้างอิงปัจจุบันสำหรับข้าวหอมปทุมธานีอยู่ที่ 9,800 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิทั่วไป 8,000 กว่าบาทต่อตัน  แต่พ่อค้านำไปขายต่อตันละ 10,000 บาทเศษ จึงอยากทราบว่าส่วนต่างตันละ 2,000 บาทนั้น ไปตกอยู่ในกระเป๋าใคร ขณะนี้กลายเป็นการกดราคากดหัวเกษตรกร เพื่อฮั้วกับพ่อค้าผู้ส่งออกข้าว 5 ราย  เห็นชัดว่ามีคนแค่ 5 คน  สามารถกำหนดกลไกราคาทั้งหมดได้  จึงอยากรู้ว่ารัฐบาลมีมาตรการป้องกันการฮั้วของผู้ส่งออกทั้ง 5 รายอย่างไร ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเคยระบุว่าจะต้องประกันราคาให้ได้ 10,000 บาทต่อตัน จึงควรจะทำตามที่ได้พูดไว้ด้วย และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยไม่ต้องคิดค่าความชื้น

นายกอร์ปศักดิ์ ชี้แจงว่า หากกำหนดราคาอ้างอิงที่ 11,000 บาทต่อตัน จะมีคำถามว่า เกษตรกรสามารถขายได้ในราคานี้จริงหรือไม่ จึงนึกไม่ออกว่ามีจุดประสงค์ในการถามอย่างไร เพราะค่าใช้จ่ายในการตลาดและการปรับปรุงคุณภาพก่อนขาย อยู่ที่ประมาณ 800 บาทต่อตัน ยอมรับว่าพ่อค้าต้องทำทุกวิถีทางที่จะซื้อถูกขายแพง รัฐบาลจึงพยายามให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ โดยให้ อคส. และ อตก. เป็นกลไกกำหนดราคาอ้างอิง การตั้งโต๊ะซื้อ ตนไม่ได้บอกว่ามีเท่าใดจะซื้อทั้งหมด

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเสริมว่า การคำนวนราคาประกันอยู่บนพื้นฐานของความชื้นที่ชัดเจน ยอมรับว่าฤดูกาลนี้จะยากที่สุด เพราะต้องเริ่มใหม่หมดทุกขั้นตอน และจากผลพวงที่มีสตอกมหาศาลจากฤดูกาลก่อนหน้านี้ ซึ่งดูจากภาวะตลาดไม่รีบร้อนในการระบายข้าว แต่โดยหลักการจะทำง่ายขึ้น

ที่มา สำนักข่าวไทย

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.