www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พลิกกลยุทธ์บริหารรับข้าวโลกพุ่ง


หลังจากราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวหลายประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย ต่างได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก อยู่ในภาวะได้เปรียบจริงหรือไม่ "กรุงเทพธุรกิจ" จึงได้สำรวจกลยุทธ์และแผนตั้งรับ การส่งออกข้าวจากผู้ส่งออกไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวยอมรับว่า สถานการณ์ราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วขณะนี้ ผู้ส่งออกตั้งหลักไม่ทัน ตอนนี้ต้อง "เพลย์เซฟ" รอดูท่าทีไปจนถึงกลางเดือน ธ.ค.นี้ พร้อมปรับกลยุทธ์การค้าข้าวใหม่ โดยซื้อข้าวมาเก็บในสต็อกไว้ก่อนที่จะรับคำสั่งซื้อหรือออเดอร์ ให้แน่ใจว่ามีข้าวในมือแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันว่าส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ การค้าดังกล่าวจะมีผลให้ยอดการส่งออกข้าวลดลง

นอกจากนี้ การสต็อกสินค้าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ส่งออก เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อเพื่อเก็บสต็อก การรับออเดอร์ของผู้ส่งออก จึงต้องซอยคำสั่งซื้อให้เล็กลง เมื่อปี 2551 ราคาข้าวที่สูงขึ้นรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกที่รับออเดอร์ไว้ก่อน ช่วงที่ราคาไม่สูง ต้องซื้อข้าวราคาที่เพิ่ม เพื่อส่งมอบเพราะเกรงว่าจะเสียเครดิตกับลูกค้า ทำให้ผู้ส่งออกหลายรายประสบปัญหาขาดทุน

ชี้ปีหน้าราคาข้าวทรงตัวสูง

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ทิศทางราคาข้าวในปี 2553 จะยังทรงตัวสูง โดยอินเดียจะเป็นปัจจัยสำคัญในการคาดการณ์ราคาข้าวปีหน้า หากอินเดียยกเลิกการซื้อข้าวล็อตใหญ่ 2 ล้านตันจริงจะส่งผลต่อราคามาก แต่ถ้าไม่ยกเลิกแน่นอนราคาจะทรงตัวสูงต่อเนื่องต่อไป

ส่วนการบริหารสต็อกข้าวของรัฐบาล น่าจะมีส่วนช่วยให้ราคามีเสถียรภาพและลดความเสี่ยงการเพิ่มขึ้นและลดลงของราคาได้ โดยรัฐบาลสามารถลดสต็อกได้ เพราะช่วงที่มีความเหมาะสมที่ผู้ซื้อต้องการข้าว ขณะเดียวกัน ช่วยลดปัญหาขาดซัพพลายในตลาด รวมถึงลดความร้อนแรงของราคาในขณะนี้ ให้ราคามีเสถียรภาพสามารถรักษาตลาดส่งออกไว้ หลังจากที่ผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ สต็อกรัฐบาลไม่ควรเกิน 3 ล้านตัน หากเกินกว่านี้จะเป็นปัจจัยกระทบต่อราคาทันที

ส่วนแนวทางการระบายสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น ผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า การระบายเป็นการทั่วไป แต่กำหนดให้ระบายเพียงล็อตเล็กๆ ประมาณ 5 หมื่นตันถึง 1 แสนตัน

นครหลวงใช้บทเรียนปี51บริหารสต็อก

นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นต่อเนื่องปีนี้ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวต้องปรับตัว เพราะเชื่อว่าราคาจะลดลง แต่เป็นเรื่องที่ประเมินได้ลำบากว่าราคาจะลดลงเมื่อใด โดยราคาข้าวที่สูงมากเมื่อปี 2551 ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวต้องปรับตัวในการบริหารสต็อกมากขึ้น

"มีบทเรียนจากปีที่แล้ว ราคาข้าวที่สูงปีที่แล้ว ทำให้ผู้ส่งออกบางรายขายล่วงหน้าไปมากกว่าที่มีในสต็อก ราคาข้าวในตลาดที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกต้องซื้อข้าวในราคาสูง เพื่อส่งมอบให้ผู้นำเข้า บางรายต้องยอมส่งออกข้าวในราคาขาดทุน เพื่อรักษาเครดิตลูกค้า" นายวัลลภกล่าว

นายวัลลภ กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวจะต้องติดตามข้อมูลภาวะการผลิตข้าวของโลก ค่าเงินบาท และความต้องการข้าวของตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาข้าว โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ที่จะประมูลข้าวในเดือน ธ.ค.นี้ จำนวน 1.8 ล้านตัน ถ้าผู้ส่งออกของไทยได้รับการประมูล อาจส่งผลให้ราคาข้าวในไทยสูงขึ้นอีก รวมทั้งต้องติดการประมูลข้าวของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ผู้ซื้อ-ผู้ขายรอจังหวะประเมินราคา

ทั้งนี้ ราคาที่สูงขึ้นเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วจะลดต่ำลง แต่เป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่า ราคาข้าวจะมีแนวโน้มลดลงเมื่อใด ซึ่งผู้ส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าราคาข้าวเลยจุดสูงสุดไปแล้วอาจจะขายลำบาก ขณะที่ผู้ซื้อจะรอให้ราคาข้าวใกล้จุดต่ำสุดจึงจะสั่งซื้อ

นายวัลลภ กล่าวว่า ในช่วงนี้ผู้ซื้อจะประเมินราคาข้าวว่าจะสูงขึ้นมากน้อยเพียงใดเช่นเดียวกับผู้ส่งออก ถ้าราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นจะทำให้ผู้ซื้อมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพราะราคาจะถูกกว่า แต่ถ้าราคาข้าวมีแนวโน้มลดลงผู้ซื้อชะลอการซื้อเพื่อรอให้ราคาต่ำที่สุด "เชื่อว่าขณะนี้ผู้ส่งออกทุกรายมีสต็อกข้าวของตัวเอง เพราะจากบทเรียนทำให้ผู้ส่งออกต้องมีสต็อกข้าวก่อนแล้ว จึงพิจารณาแนวโน้มของตลาด ถ้ามีคำสั่งซื้อเข้ามาและได้ราคาที่เหมาะสมก็จะขายออกไปการเก็บข้าวไว้นานมีต้นทุนในการเก็บรักษา" นายวัลลภกล่าว

กมลกิจผวาราคาขึ้นเร็วลงแรง

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ ประธานบริษัท กมลกิจ กรุ๊ป กล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้น เกิดจากกระแสข่าวราคาจะเพิ่มขึ้น การส่งออกได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากโดยธรรมชาติชาวนาจะชะลอการขาย เพื่อหวังว่าราคาจะสูงขึ้น ทำให้ซัพพลายหายไปจากตลาด ธุรกิจกลางและปลายน้ำมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการขาดแคลนสินค้าและผู้ซื้อพร้อมจะสู้ราคา เชื่อว่าสถานการณ์อย่างนั้น จะเป็นประโยชน์กับชาวนาที่มีรายได้มากขึ้น แต่หากเป็นเพียงการคาดหวังว่าจะให้ราคาสูงเหมือนช่วงปี 2551 อาจนำไปสู่การตีกลับของระดับราคาที่จะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ที่สต็อกสินค้าไว้มากๆ

"ประเทศผู้ซื้อเคยซ้อมมาแล้วว่าตั้งรับได้อย่างไร เขาไม่ตกใจสั่งซื้อข้าว ต้องซื้อในราคาที่แพงเกินความเป็นจริง ปีนี้ผู้ซื้อไม่น่าจะตกเป็นเหยื่ออีก ถ้าต้องการให้ได้ราคาสูงๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าผลักภาระทุกอย่างให้ผู้ซื้อ เราต้องทำการค้าแบบให้ลูกค้ากลับมาซื้อเราอีก" นางสาวกอบสุขกล่าว

ระวังตัวรับออเดอร์-ปรับเทอมส่งมอบสั้น

อย่างไรก็ตาม การปรับตัว มี 2 ปัจจัย คือ 1. การระวังในการรับออเดอร์ ต้องหาผลผลิตมาสต็อกไว้ก่อน จึงรับออเดอร์เพื่อลดความเสี่ยงราคาผันผวน และ 2. กำหนดเวลาส่งมอบไม่ให้นานจนเกินไป ก่อนหน้านี้ จะส่งมอบนานสูงสุด 3 เดือน แต่ปัจจุบันเชื่อว่าจะเหลือแค่ 1 เดือนถือว่าพอแล้ว

นางสาวกอบสุข กล่าวว่า ด้านการตลาดเชื่อว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ตลาดอาจตกไปเป็นของคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งไทยจะเหลือแต่ตลาดบนที่มีเงื่อนไขการส่งออกสูง อาทิเช่น ยุโรป สหรัฐ นอกจากความยุ่งยากมาตรฐาน คุณภาพการนำเข้าแล้วยังมีเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้น เชื่อว่าปีหน้าไทยอาจส่งออกข้าวไม่ถึง 10 ล้านตัน น่าจะอยู่ที่ 8-9 ล้านตัน เนื่องจากราคาที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อจากเวียดนามมากกว่า

"วิชัย" ระบุราคาข้าวสูงตามน้ำมัน

นายวิชัย ศรีประเสริฐ ประธานบริษัทไรซ์แลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ราคาข้าวมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก เพราะเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่วนราคาน้ำมันและทองคำก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผู้ส่งออกข้าวได้ชี้แจงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า ควรติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับราคาข้าวทั่วโลก รัฐบาลไม่ควรกังวลกับการระบายข้าวสต็อกรัฐ เพราะข้าวมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น รัฐบาลจะได้กำไรจากสต็อกข้าวสาร 6 ล้านตันแน่นอน

นอกจากนี้ แนวโน้มผลผลิตข้าวโลกก็ลดลง ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น โดยน้ำผิวดินหลายประเทศลดลง อาทิเช่น จีน อินเดีย ส่งผลให้ใช้น้ำใต้ดินมาปลูกข้าวมากขึ้น บางประเทศเริ่มห้ามใช้น้ำใต้ดินทำการเพาะปลูก ถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้นอีกแนวโน้มการปลูกพืชพลังงานก็สูงขึ้น ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นราคาน้ำมันดิบที่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ เมื่อถึงตอนนั้น ราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดก็จะปรับตัวสูงขึ้น

นายวิชัย กล่าวว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ราคาข้าวลดลงด้วยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะราคาน้ำมันมีความผันผวนมาก โดยปี 2551 เคยสูงถึงบาร์เรลละ 147 ดอลลาร์ มาอยู่ที่บาร์เรลละ 40 ดอลลาร์ ช่วงต้นปี 2552 แต่ปัจจุบันได้ปรับขึ้นมาเกือบเท่าตัว จึงมีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปอยู่ที่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์อีกครั้ง ถ้าผู้ส่งออกรายใดมีสต็อกข้าวอยู่มาก ในช่วงที่ราคาขึ้นก็มีโอกาสที่จะได้กำไรสูง แต่ถ้าช่วงที่ราคาข้าวสูงขึ้นแล้วผู้ส่งออกขายข้าวไม่ทัน อาจทำให้ขาดทุนได้ ผู้ส่งออกทุกรายก็ต้องประเมินให้ใกล้เคียง ว่า ราคาข้าวจะขึ้นไปอยู่ที่เท่าใด

ชี้บาทแข็งปรับราคาแข่งเวียดนามยาก
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานบริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ กล่าวว่า การส่งออกข้าวช่วงนี้มีความยากลำบากมากเพราะมีต้นทุนสูง ทำให้ผู้ซื้อกังวลไม่กล้าสั่งซื้อสินค้า มีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์เช่นนี้ จะทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง ประกอบกับปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุกวัน

โดยปีหน้าการซื้อ-ขายล่วงหน้าจะน้อยลง เพราะสถานการณ์การขายขณะนี้ พบราคาเฉลี่ยที่รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์ เพื่อส่งมอบเดือน ธ.ค.แต่ผู้ส่งออกต้องซื้อข้าวราคาตันละ 1 พันดอลลาร์ จะเห็นว่าโอกาสที่ผู้ส่งออกจะขาดทุนจากส่วนต่างสูง

แม้มีการประเมินปริมาณผลผลิตปีหน้า ภาคอีสานข้าวหอมมะลิมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากเป็นประวัติการณ์ แต่สถานการณ์ราคา และโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดไม่มาก เนื่องจากชาวนาต้องการรอราคาให้สูงที่สุด ทำให้ทั้งโรงสี และผู้ส่งออกต้องแย่งกันซื้อข้าว ทำให้ สินค้าขาดตลาดเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น

ผู้นำเข้าเอเชียหันซื้อข้าวหอมเวียดนาม

นายเจริญ กล่าวว่า ตลาดส่งออกที่ยังพอพึ่งพาได้ขณะนี้ คือ สหรัฐ แคนาดา ซึ่งเป็นตลาดพรีเมียม สามารถรองรับราคาที่สูงได้ ส่วนตลาดทั่วไป ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียหันไปซื้อข้าวหอมมะลิจากแหล่งอื่น อาทิเช่น เวียดนาม เนื่องจากมีราคาถูก การส่งออกข้าวไปฮ่องกงช่วงที่ผ่านมาลดลง 10% เช่นเดียวกับสิงคโปร์ และจีน ส่วนเวียดนาม มีการส่งออกข้าวหอมมะลิช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาสูงถึง 1.8 แสนตัน สูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

ส่วนราคาข้าวเวียดนามเฉลี่ยตันละ 400-500 ดอลลาร์ ขณะที่ข้าวไทยอยู่ที่ตันละ 1 พันดอลลาร์ จากก่อนหน้านี้ ช่องห่างระหว่างข้าวไทยและเวียดนามเฉลี่ยที่ตันละ 200 ดอลลาร์เท่านั้น แต่เมื่อเวียดนามลดค่าเงินด่องอีก 5.4% ทำให้ช่องห่างระหว่างราคาข้าวเพิ่มขึ้นอีกตันละ 80-100 ดอลลาร์

กัดฟันรับออเดอร์หวังรักษาลูกค้า

นายเจริญ กล่าวว่า ภาวะตลาดขณะนี้ทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้าขายข้าวล็อตใหญ่ๆ ให้ระยะเวลาส่งมอบนานจนเกินไป แต่ด้วยธรรมชาติการค้าข้าวหอมมะลิ ที่ส่วนใหญ่ตลาด คือ การขายปลีกในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ไม่สามารถปรับราคาขึ้นลง ทำให้การรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า 3 เดือน เหมือนช่วงที่ผ่านๆ มา

"แผนการทำธุรกิจหลังจากนี้ต้องให้มีข้าวในสต็อกไว้ก่อนที่จะรับคำสั่งซื้อ เน้นรักษาฐานลูกค้าเก่า ทำตลาดในส่วนแบรนด์ของตัวเองให้มีสินค้าและราคาที่มีเสถียรภาพ เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงจากราคาข้าว และอัตราแลกเปลี่ยน"

กลุ่มทุนกว้านซื้อข้าวสต็อกเก็งกำไรปีหน้า

นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึง สถานการณ์ราคาข้าวว่า จะยังคงสูงต่อเนื่อง โดยราคาข้าวจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2553 เพราะช่วงนั้นหลายประเทศจะเกิดปรากฏการณ์เกิดเอลนีโญ สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าวได้ โดยเชื่อว่าข้าวหอมมะลิส่งออกน่าจะอยู่ที่ตันละกว่า 1,200 ดอลลาร์ ราคาที่ชาวนาได้รับก็น่าจะอยู่ที่ 25,000 บาทต่อตัน ส่วนข้าวขาวราคาส่งออกน่าจะอยู่ที่ตัน 1,000 ดอลลาร์ ชาวนาก็จะขายได้ตันละ 18,000 บาทเป็นอย่างต่ำ

"ผมว่าตั้งแต่กลางปีหน้าราคาข้าวทุกชนิดน่าจะปรับตัวสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 20-30% ราคาน่าจะสูงกว่าปี 2551 ปีหน้าจะเป็นปีที่มีการเก็งกำไรกันมากที่สุดสำหรับการส่งออกข้าว ตอนนี้กลุ่มทุนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ที่มีเงินเข้ามากว้านซื้อข้าวเก็บในสต็อกรอเก็งกำไรแล้ว ในหลายๆ พื้นที่ ดังนั้น ถ้าข้าวเพื่อการบริโภคภายในได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลก็ควรเข้ามาดูแล"

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.