นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังการหารือกับผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุง ว่า ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตข้าวถุงทุกรายตรึงราคาจำหน่ายข้าวสารในราคาเดิมออกไปประมาณ 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลว่าผู้ผลิตข้าวถุง ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่เป็นต้นทุนหลักถึง 85-90% มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีปริมาณการผลิตในปีนี้เพียง 3-4 ล้านตัน และส่วนใหญ่อยู่ในสต็อกรัฐบาล คาดว่าหลังจากที่คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติระบายข้าวในสต็อกภายในเดือน ส.ค.นี้ จะทำให้ข้าวหอมมะลิในตลาดมีราคาลดลง
ราคาข้าวปัจจุบัน ข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรัม ข้าวหอมมะลิ 100% ถุงละ 180-190 บาท ข้าวหอมปทุม 100% ถุงละ 170-180 บาท ข้าวขาว 100% ถุงละ 140-150 บท ข้าวขาว 5% ถุงละ 130-140 บาท ข้าวเหนียวถุงละ 90-100 บาท
นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตข้าวถุงไทย กล่าวว่า ปัญหาข้าวถุงมีราคาแพง เพราะผู้ผลิตหาซื้อข้าวในท้องตลาดไม่ได้ โดยข้าวไปอยู่ในสต็อกรัฐบาลเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิขณะนี้มีแรงซื้อเพื่อทำข้าวถุงและซื้อเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ส่งผลให้มีการแย่งซื้อกัน จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวในสต็อกออกมาเพื่อคลายแรงกดดัน
ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาร้านค้าปลีกรายใหญ่ได้ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มขึ้น จากเดิมคิดเป็นบาท แต่ปัจจุบันปรับเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์ ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นมาก โดยปรับเพิ่มสูงถึง 10%
"ข้าวราคาสูงอยู่แล้ว ถ้าปรับค่าธรรมเนียมเป็นบาท ก็ขึ้นไม่เท่าไร พอปรับเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์ราคาก็ยิ่งแพง ซึ่งผู้ประกอบการอยากให้กรมการค้าภายในเข้ามาช่วยดูแลในจุดนี้ เพราะถ้าไม่เข้ามาช่วยดู และมีการปรับเพิ่มแบบนี้ต่อไป ผู้ประกอบการจะเดือดร้อน และทำธุรกิจไม่ได้" นายสมฤกษ์กล่าว
แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาข้าวถุงราคาแพงเกิดจากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด รายใหญ่หลายแห่ง ได้มีการปรับเงื่อนไขการจำหน่ายข้าวถุงผ่านร้านโมเดิร์นเทรดใหม่จนทำให้ต้นทุนผู้ผลิตสูงขึ้น อาทิเช่น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าสินค้า (เอ็นทรานส์ ฟี) เพิ่มขึ้นสินค้าชนิดละ 1 ล้านบาท จากเดิมที่เก็บเพียงไม่กี่แสนบาท รวมถึงเพิ่มค่าลงโฆษณาสินค้าในแผ่นพับ (ค่าเมล) อีกสินค้าละ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาทต่อแผ่นโฆษณา 15 วัน
นอกจากนี้ ห้างยังขอปรับขึ้นค่าธรรมเนียม ในการหักการส่งข้าวถุงไปจำหน่ายจากผู้ผลิต (แบ็ค มาร์จิน) เพิ่มอีกรายละ 1-2% เป็น 5-10% ทำให้ต้นทุนผู้ผลิตข้าวถุงเพิ่มโดยอัตโนมัติ ที่สำคัญ ห้างยังมีการบวกส่วนต่าง จากการวางจำหน่าย (ฟรอนท์ มาร์จิน) เพิ่มจาก 6% เป็นเฉลี่ยถึง 10% ซึ่งถือเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค จากการปรับค่าธรรมเนียมดังกล่าว ส่งผลให้ข้าวถุงมีราคาสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าถุงละ 15-20 บาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|