www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พ่อค้าหวั่นประกันราคาข้าวป่วน โรงสีขาดเงินหมุนเวียน หลักทรัพย์ติดจำนอง


แหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"กรณีที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร 3 ชนิดคือข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยจะเริ่มฤดูการเก็บเกี่ยวปี 2552/53 หรือตั้งแต่เดือนตุลาคมปีนี้ สำหรับสินค้าข้าวรัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบกว่าสินค้าข้าวโพดและมันสำปะหลัง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวราคาสูงกว่าท้องตลาดได้ก่อให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างของธุรกิจค้าข้าวไปแล้ว

กล่าวคือธุรกิจค้าข้าวที่เริ่มจากชาวนา พ่อค้าคนกลางรับซื้อข้าวเปลือก ตลาดกลางข้าวเปลือก โรงสี พ่อค้าคนกลางรับซื้อข้าวสาร (หยง) ผู้ส่งออกข้าว แต่หลังจากที่รัฐบาลรับจำนำนาปรังด้วย จากเดิมรับจำนำนาปีอย่างเดียวและราคาสูงกว่าท้องตลาด ทำให้เกษตรกรไม่มาไถ่ถอน ข้าวนาปรังที่เก็บไว้ได้ไม่นานต้องเร่งแปรเป็นข้าวสาร รัฐบาลจึงดึงโรงสีข้าวร่วมโครงการ 5-6 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงสีอยู่ได้ด้วยการรับจ้างรัฐบาลสีข้าว หากเปลี่ยนเป็นประกันราคาโรงสีต้องหาเงินทุนมารับซื้อข้าวเอง ขณะที่หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ติดจำนองกับสถาบันการเงินไปหมดแล้ว

"รัฐบาลจะต้องคิดให้รอบคอบ เพราะหากเดินหน้าโครงการประกันราคา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะมีโรงสีที่สายป่านสั้น ไม่มีหลักทรัพย์ไปจำนองกับสถาบันเพราะที่มีอยู่ติดจำนองไปหมดแล้ว จะต้องล้มหายตายจากระบบ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาคือคนงานตกงาน โรงสีที่เหลือน้อยรายอาจกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร ซึ่งโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่ผ่านมามีโรงสีเข้าร่วมโครงการประมาณ 600 ราย ประกอบกับสถานการณ์ส่งออกข้าวโดยเฉพาะข้าวขาวต้องแข่งขันกับเวียดนาม หากผู้ส่งออกซื้อข้าวสารจากโรงสีราคาต่ำ โรงสีต้องกดราคารับซื้อจากชาวนาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เกษตรกรที่มีข้าวส่วนเกินจากโครงการประกันราคาจะต้องได้รับความเดือดร้อน"

ก่อนหน้านี้นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่าธ.ก.ส.ได้เตรียมแผนปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามนโยบายรัฐ 1.47 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อจำนวนนี้จะปล่อยให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรทั้งโรงสีและลานมัน ผู้ประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องและสหกรณ์การเกษตรที่อาจจะมารับซื้อผลผลิตเพื่อช่วยเหลือสมาชิก รวมถึงวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่เข้ามาแปรรูปสินค้า

โดยธ.ก.ส.จะปรับปรุงเงื่อนไขปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนเช่นการให้นำสินค้ามาเป็นหลักประกันอย่างกรณีข้าว ธ.ก.ส.จะปล่อยสินเชื่อประมาณ 50% ของมูลค่าสินค้า หากปล่อย 70% หรือ 90% รัฐอาจชดเชยให้กับธ.ก.ส.โดยแยกบัญชีว่าเป็นบัญชีเพื่อสังคม (พีเอสเอ) รวมทั้งจะอนุโลมลูกค้าเอ็นพีแอลด้วย

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปปริมาณหรือวงเงินประกันราคาข้าวสำหรับเกษตรกรต่อราย เพราะหากกำหนดรายละ 20 ตัน เท่ากับเกษตรกรจะได้ 200,000 บาทต่อราย ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ได้รายละ 350,000 บาท แต่หากกำหนดเป็นรายละ 350,000 บาท รัฐบาลจะต้องใช้งบเพิ่มขึ้นอีก 75% จาก 25,000 ล้านบาท เป็น 43,000 ล้านบาท ที่ประชุมได้มอบหมายให้ธ.ก.ส. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ไปร่วมจัดทำข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้ง และเสนอกขช.โดยเร็วที่สุด

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.