ภายหลังจาก"ฐานเศรษฐกิจ" นำเสนอข่าวพาดหัว "ญวนแผนลึกยึดตลาดข้าวไทย" ฉบับวันที่ 31 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2553 โดยสาระคือประเทศเวียดนามดอดกว้านซื้อข้าวจากประเทศกัมพูชา และจังหวัดชายแดนประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศที่ 3 จนทำให้ตัวเลขการส่งออกข้าวเวียดนามจี้ติดประเทศไทยแบบหายใจรดต้นคอ ทั้งนี้ ในปี 2552 เวียดนามมียอดส่งออก 6 ล้านตัน ขณะที่ไทยส่งออกได้ 8.5 ล้านตัน
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดข้าว โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Oryza.com ว่า ล่าสุดเวียดนามและกัมพูชาร่วมมือกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้านข้าวขึ้นใช้ชื่อบริษัทว่า Cambodia-Vietnam Foods Company (Cavifoods) เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทพัฒนาและการลงทุนกัมพูชา (IDCC) ถือหุ้น 33% บริษัท Vinafood 2 ถือหุ้น 37% และบริษัท Green Trade ของกัมพูชาถือหุ้น 30% เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 264 ล้านบาท คำนวณที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยบริษัท Cavifoods จะลงทุนธุรกิจด้านข้าวตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บรักษา การส่งออก โดยจะสร้างโรงสีข้าว ไซโลเก็บสำรองข้าว โรงงานขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายข้าว
นอกจากนี้ อีกหลายหน่วยงานของเวียดนามยังให้ความสำคัญการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว อาทิ สมาคมอาหารเวียดนาม เตรียมจัดตั้งกองทุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพข้าว โดยมีเงินทุนทั้งสิ้น 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่สมาคมเกษตรกรส่วนกลางจะให้ความร่วมมือโดยให้สหกรณ์กู้เงินเพื่อสร้างโรงงานอบข้าวและสร้างโรงสีข้าวหรือโกดังเก็บข้าว ด้านกระทรวงการคลังจะจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเพื่อช่วยเกษตรกรและผู้ส่งออกข้าวในช่วงที่ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงด้วย
"เวียดนามมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันยอดการส่งออกข้าวทุกวิถีทางมานานแล้ว แต่การดำเนินการครั้งนี้ถือว่ามีความชัดเจนและเป็นทางการขึ้น เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้สำหรับประเทศไทย เพราะว่าการผลิตข้าวในกัมพูชาได้ต้นทุนต่ำแต่คุณภาพข้าวใกล้เคียงข้าวไทย เพราะฉะนั้นภายใน 5 ปีข้างหน้ามีความเป็นไปได้สูงที่เวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกแทนที่ประเทศไทย" นางสาวกอบสุขกล่าวและว่า
ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพข้าว และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการหารือกันในกลุ่มผู้ส่งออกข้าว และว่ารัฐบาลน่าจะสนับสนุนการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง (การทำการเกษตรแบบมีพันธะสัญญา) โดยให้เอกชนสนับสนุนเกษตรกรปลูกและรับซื้อคืน เพราะจะทำให้ควบคุมคุณภาพข้าวได้ หรืออีกทางหนึ่งคือใช้พม่าเป็นฐานการผลิตข้าวให้กับประเทศไทย และไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวให้กับพม่าเพราะต้นทุนผลิตในพม่ายังต่ำอยู่ อย่างไรก็ตาม เวลานี้คงยังเข้าไปไม่ได้เพราะพม่ายังปิดประเทศอยู่
นางสาวกอบสุข กล่าวต่อไปว่า สมาคมอาหารเวียดนาม รายงานปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนาม ปี 2552 มีปริมาณส่งออก 6.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่ส่งออกได้ 4.67 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 29.35% ในจำนวนนี้พบว่าการส่งออกข้าวขาวเพิ่มขึ้น 26.59% ข้าวหอมเพิ่มขึ้น 59.50% ข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น 187% ปลายข้าวขาวลดลง 70% และเดือนมกราคม 2553 การส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมของเวียดนามยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงคือข้าวขาวเพิ่มขึ้น 20% ข้าวหอมเพิ่มขึ้น 255% ส่วนข้าวเหนียวและปลายข้าวลดลง 89%และ94% ตามลำดับ
สำหรับตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของเวียดนาม มีข้อน่าสังเกตว่าตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก โดยปี 2552 เวียดนามส่งออกข้าวไปมาเลเซียเพิ่มขึ้นถึง 55% จากปี 2551 สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 437% ฮ่องกงเพิ่มขึ้น 640% นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่าปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามเติบโตในตลาดอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยเช่นเดียวกันนั้น สะท้อนชัดว่าขณะนี้ไทยได้สูญเสียตลาดอาเซียนให้กับเวียดนาม
ด้านนายมนัส ห้วยหงษ์ทอง นายกสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2553 คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้กระทรวงพาณิชย์เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกนาปรัง นอกฤดูการผลิตที่ผลผลิตออกมาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 290,000 ตัน ในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่สุโขทัย พิษณุโลก สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. เป็นต้นไป จนกว่าราคาข้าวจะเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ กำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรังความชื้น 15% เกวียนละ10,000 บาท ความชื้น 25% เกวียนละ 8,403 บาท ความชื้น 28% เกวียนละ 7,900 บาท
ช่วงเย็นของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย ได้หารือร่วมกับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งแจ้งให้ทราบว่าข้าวเปลือกที่ได้จากการตั้งโต๊ะรับซื้อจะนำมาซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) แต่เนื่องจากการซื้อขายข้าวเปลือกผ่านเอเฟทยังกำหนดรายละเอียดไม่แล้วเสร็จไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าว มาตรฐานข้าว ดังนั้น ทางโรงสีจึงกำหนดแนวทางการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าว โดยโรงสีที่เข้าร่วมโครงการนี้จะรับซื้อข้าวเปลือกตามราคาอ้างอิงตามช่วงเวลาที่คณะทำงานกำหนดราคาอ้างอิงกำหนดออกมา แล้วให้เกษตรกรรับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาอ้างอิงกับราคาประกันรายได้จากรัฐบาล โดยข้าวเปลือกที่รัฐบาลตั้งโต๊ะซื้อฝากเก็บไว้กับโรงสี อัตราค่าฝากเก็บตันละ 55 บาท และโรงสีสามารถซื้อคืนได้ตามราคาอ้างอิง และโรงสีจะวางเงินค้ำประกัน 50% ของมูลค่าข้าวที่รับซื้อ และโรงสีค้ำประกันกันเอง ซึ่งทางรองนายกฯได้รับข้อเสนอนี้เพื่อหารือกับกรมการค้าภายในอีกครั้งหนึ่ง
นายนิสิต เมฆอรุณวัฒนา ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการ กขช.มีมติให้จังหวัดพิษณุโลกตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือก วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ได้เปิดจุดรับซื้อ 3 จุด โดยราคาที่รัฐตั้งโต๊ะซื้อกับราคาตลาดไม่แตกต่างกันมาก กล่าวคือราคาที่รัฐซื้อข้าวสดตันละ 7,300-7,500 บาท ข้าวแห้งตันละ 9,800 บาท ขณะที่ราคาตลาดข้าวสดตันละ 6,500 บาท ข้าวแห้งตันละ 9,000-9,300 บาท แต่ราคาตลาดที่เกษตรกรขายให้กับโรงสีได้รับเงินสดทันทีราคาที่ไม่แตกต่างกันมากคาดว่าชาวนาจะขายให้กับโรงสีมากกว่า
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|