แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (2 มี.ค.) กระทรวงการคลัง ได้เสนอให้ที่ประชุมขยายเวลาการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2551 เดิมสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มี.ค. 2552 มาเป็นให้สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2553 พร้อมขอให้ ครม.อนุมัติจัดสรรงบกลางปี 2553 สำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มเติมวงเงิน 2,963.44 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบริหารโครงการและค่าชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตร และจัดสรรให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นค่าใช้จ่ายรับฝากข้าวเปลือกและออกใบประทวนสินค้า ค่าเช่าสถานที่ ค่าตรวจสอบคุณภาพข้าว และค่าใช้จ่ายบริหารโครงการ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง แจ้งว่าสาเหตุที่ต้องขยายเวลาการปิดโครงการไปถึงวันที่ 31 มี.ค. 2553 เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าว ในสต็อก 5 แสนตัน และไม่สามารถชำระหนี้คืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ตามระยะเวลาโครงการ ขณะที่การระบายข้าวสารในโครงการจำนำข้าวนาปรังปี 2551 เหลืออยู่ 1.55 ล้านตัน ยังไม่มีความชัดเจนทำให้เป็นภาระกับรัฐบาล
แหล่งข่าวกล่าวว่า ครม.ได้มีมติเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 รวม 5 ครั้ง เช่น มติ ครม.ให้เปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือก การแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกเหนียวตกต่ำ การเพิ่มเป้าหมายรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 การปรับเพิ่มเป้าหมายการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ครั้งที่ 2 ส่งผลให้การดำเนินโครงการรับนำจำข้าวเปลือกมีปริมาณทั้งสิ้น 4.15 ล้านตัน มีเกษตรกรเข้าร่วม 3.17 แสนราย ต้องใช้งบดำเนินการทั้งสิ้น 3,976.71 ล้านบาท ส่วนจำนวนเงินกู้ที่รัฐบาลกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาใช้โครงการรับจำนำเป็นเงิน 5.45 หมื่นล้านบาท ได้ระบายข้าวออกไป 6.6 แสนตัน
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เห็นด้วยกับการอนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาโครงการ พร้อมทั้งเสนอว่ากรณีที่โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรทุกโครงการที่ ครม. หรือคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หรือ คณะกรรมการนโยบายมาตรการและช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) สิ้นสุดโครงการ แต่ไม่สามารถระบายผลผลิตได้ ยังมีภาระหนี้สินกับธ.ก.ส.อยู่ ธ.ก.ส.สามารถเบิกค่าชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้ ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับโครงการที่สิ้นสุดระยะเวลาโครงการแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หากมีค่าใช้จ่ายหรือขาดทุนสามารถขอชดเชยคืนจากรัฐได้อยู่แล้ว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การประชุม กขช.สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้หารือถึงกรณีมีข่าวว่ารัฐบาลจะระบายข้าว 2 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวตกต่ำลงมาก เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวในที่ประชุมว่าขณะนี้รัฐบาลต้องแบกรับภาระในการเก็บรักษาข้าวในสต็อกของรัฐบาล 5-6 ล้านตัน เช่น ค่าเช่าโกดัง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นเงินปีละไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท แต่ถูกนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ตอบโต้กลับทันทีด้วยท่าทีที่ไม่พอใจ โดยระบุว่าข่าวลือที่ออกมาทำให้ประเทศชาติเสียหายมากกว่าค่าเก็บข้าว 5 พันล้านบาท
นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจรองนายกรัฐมนตรีด้านการเกษตร กล่าวว่าหากรัฐบาลยังไม่สามารถระบายข้าวในสต็อกออกไปได้ จะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบค่าบริหารจัดการ ค่าโกดังเก็บข้าวเดือนละ 200 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาระหนักที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ดังนั้นหากมีเวลาและราคาที่เหมาะสม ตนเห็นด้วยที่รัฐจะต้องระบายข้าวออก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|