เวียดนามฮุบตลาดข้าวหอมมะลิไทยในฮ่องกง ยอดส่งออกครึ่งแรกปีนี้ลดลงกว่า 20% ครึ่งปีหลังอาการยังหนัก ชี้เหตุฮ่องกงหันนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ กำลังซื้อผู้บริโภคลด ผู้ส่งออกไทยจี้รัฐลดต้นทุน พัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้แข่งขันในตลาดโลกได้ ก่อนไทยเสียตลาดข้าวหอมมะลิให้เวียดนาม
หลังจากที่ไทยสูญเสียตลาดข้าวขาวในหลายประเทศให้กับเวียดนาม เพราะข้าวขาวเวียดนามราคาถูกกว่าข้าวไทย ล่าสุดไทยได้สูญเสียตลาดข้าวหอมมะลิให้กับเวียดนามอีกที่ตลาดฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหอมมะลิอันดับสองของไทย
ต่อเรื่องนี้นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่อันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา พบว่า 6 เดือนแรกของปีนี้ฮ่องกงนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยปริมาณ 84,911 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้าปริมาณ 102,273 ตัน หรือลดลงกว่า 20% ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาลามถึงยุโรป กระทบมาถึงฮ่องกงด้วยทำให้คนฮ่องกงประหยัดกันมากขึ้นจึงหันไปบริโภคข้าวที่ราคาถูกจากประเทศเวียดนามและจีน
"ข้าวหอมเวียดนามราคาส่งออกเฉลี่ย 550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทยราคาสูงถึง 950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ห่างกันถึง 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็นเหตุให้ผู้บริโภคชาวฮ่องกงหันไปรับประทานข้าวเวียดนาม ส่วนข้าวหอมมะลิของไทยมีราคาสูงเพราะปีนี้ผลผลิตน้อย ราคาประกันข้าวเปลือกหอมมะลิสูงถึงตันละ 15,000 บาท ทำให้ข้าวหอมมะลิส่งออกไทยราคาค่อนข้างสูง"
นายชูเกียรติ กล่าวว่า การที่ไทยประกาศจะเข้าสู่ตลาดบนด้วยการผลิตข้าวคุณภาพดีอย่างหอมมะลิ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ตลาดข้าวไทยที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ตั้งเป้าราคาขายให้ได้ตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการสวนทางกับสถานการณ์ที่ผู้ส่งออกเผชิญ เพราะขนาดราคายังไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังขายลำบาก
ดังนั้นรัฐบาลควรจะรีบลงทุนพัฒนาข้าวหอมมะลิไทย และลดต้นทุนให้เกษตรกรเหมือนรัฐบาลจีนที่ได้ลงทุนวิจัยพัฒนาข้าวหอมจีนกว่า 20 สายพันธุ์ โดยใช้เงินงบประมาณกว่า 8,000 ล้านหยวน หรือราว 4,000 ล้านบาท จนทำให้ข้าวหอมจีนบางชนิดดีกว่าข้าวหอมมะลิของไทย กระทั่งวันนี้บางมณฑลของจีนได้ประกาศไม่นำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย ยิ่งทำให้สถานการณ์ข้าวหอมมะลิไทยมีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ฮ่องกงนิยมบริโภคข้าวคุณภาพสูง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิจากไทย เดิมรัฐบาลฮ่องกงได้ดำเนินโครงการควบคุมการค้าข้าว เนื่องจากต้องการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าฮ่องกงจะมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภค และมีข้าวสำรองยามฉุกเฉินด้วย ก่อนที่ฮ่องกงจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ได้ทำข้อตกลงนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยเป็นรายปีแต่ไม่มีข้อผูกมัด
ต่อมาหลังจากที่ฮ่องกงเข้ามาเป็นสมาชิก WTO ในปี 2538 รัฐบาลฮ่องกงจะต้องเปิดให้มีการแข่งขันการค้าข้าวอย่างเสรีมากขึ้น จึงได้ทบทวนโครงการนี้ใหม่และดำเนินมาตรการเปิดเสรีการค้าข้าวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา หลังจากปี 2546 รัฐบาลฮ่องกงได้ยกเลิกข้อกำหนดในการนำเข้าข้าวและปล่อยให้ราคาข้าว จำนวนของผู้ประกอบการ และส่วนแบ่งตลาดขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดทำให้จำนวนผู้ค้าข้าวเพิ่มขึ้นจาก 50 รายในปี 2546 เป็นประมาณ 103 รายในปี 2552
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนครโฮจิมินห์ รายงาน ว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 เวียดนามสามารถส่งออกข้าวไปยังฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่มูลค่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกือบเท่ามูลค่าส่งออกข้าวไปยังฮ่องกงปี 2552ทั้งปี (มูลค่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่วนในครึ่งปีหลังมีนักธุรกิจจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงมีแผนจะนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีผลให้การส่งออกข้าวของเวียดนามในปี 2553 ขยับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่การค้าเวียดนามได้ส่งสัญญาณให้ผู้ส่งออกข้าวให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้า บรรจุภัณฑ์และการส่งมอบสินค้าตามเวลา
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |