นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ระบุว่าภายใน 3-4 เดือนจากนี้ รัฐบาลจะไม่มีการระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่มีปริมาณ 5-6 ล้านตัน ว่า การระบายข้าวเป็นหน้าที่ของ กขช.ที่จะต้องไปพิจารณา แต่ตนได้ให้นโยบายว่าหากระบายแล้ว ไปกระทบกับข้าวใหม่ที่จะออกมา ก็ไม่อยากดำเนินการ เพราะจะกระทบต่อราคาข้าวของเกษตรกร
ขณะเดียวกัน ตนเชื่อว่าแนวโน้มราคาข้าวจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง และรัฐบาลไม่ได้มีการเก็บสต็อกเข้ามาเพิ่ม ดังนั้น ตนย้ำว่านโยบายการระบายข้าวของรัฐบาลนั้น จะต้องมีการบริหารเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบราคาข้าวในตลาด
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.วานนี้ (2 มี.ค.) มีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลางปี 2553 วงเงินประมาณ 1,101 ล้านบาท เพื่อใช้เก็บรักษาข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 จำนวน 1.55 ล้านตันข้าวสาร โดย ธ.ก.ส., อ.ต.ก. และ อคส. ได้เสนอของบกลาง ของปี 2553 วงเงิน 2,963 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวได้หมด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายโครงการทั้งสิ้น 3,161 ล้านบาท แต่เนื่องจากโครงการนี้มีเงินเหลือจ่ายอยู่จำนวน 197 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีการเสนอของบกลาง จำนวน 2,963 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้ ธ.ก.ส. นั้น ธ.ก.ส. ได้คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 6.5% ต่อปี ซึ่งคิดเป็นเงิน 2,534 ล้านบาท แต่ครม.ขอให้คิดดอกเบี้ยเพียง 1.98% ต่อปี ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลงเหลือ 673 ล้านบาท ยอดจึงเหลือเพียง 1.1 พันล้านบาทเท่านั้น
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ตัวแทนชาวนาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม และ สุพรรณบุรี 10 คน นำโดย นายขวัญชัย มหาชื่นใจ เกษตรกรจากพระนครศรีอยุธยา ได้บุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เพื่อให้แก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลปรับราคาประกันข้าวเปลือกความชื้น 15% อยู่ที่ราคา 1.2 หมื่นบาทต่อตัน
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระบายตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า กล่าวว่า วันที่ 3 มี.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเปิดระบายข้าวสารสต็อกรัฐบาล ผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) 3 แสนตัน ส่วนการระบายข้าวผ่านวิธีอื่นยังไม่พิจารณา
"การระบายผ่านเอเฟท เป็นแผนเดิมที่รับจาก กขช. ซึ่งการซื้อขายล่วงหน้า กว่าส่งมอบจริง ต้องเริ่มช่วงเดือนมิ.ย. เป็นต้นไป ซึ่งจะไม่กระทบต่อข้าวนาปรังที่จะออกปลายเดือนมี.ค.-พ.ค. " นายยรรยง กล่าว และว่า ทั้งนี้ การยกเลิกประมูลข้าวสาร 5 แสนตัน ครั้งล่าสุด ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น
ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบหาต้นตอปล่อยข่าวทุบราคาข้าว กำลังอยู่ระหว่างหาข้อมูล ซึ่งน่าจะได้ผลสรุปภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยประเด็นจะดูว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการปล่อยข่าว แต่ขณะเดียวกันจะเสนอข้อมูลเพื่อหาแนวทาง การแก้ปัญหาปล่อยข่าวทุบราคาข้าวที่เกิดขึ้นด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|