www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พรทิวา ผลักดันท่าข้าวกำนันทรง นครสวรรค์ เป็นศูนย์กลางการค้าข้าว


นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมข้าวภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค. 2553 ณ ท่าข้าวกำนันทรง จ.นครสวรรค์ว่า กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้ท่าข้าวกำนันทรง เป็นศูนย์กลางการค้าข้าว (Hub of Rice) เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะขณะนี้ไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียความเป็นผู้นำการส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก หลังจากที่ครองแชมป์มากว่า 30 ปี เนื่องจากภาวะการแข่งขันในตลาดส่งออกมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่ง และยังมีปัญหาที่สำคัญที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราหลายสกุล ทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศได้หันไปซื้อข้าวราคาถูกของคู่แข่งทดแทนข้าวไทย

“สาเหตุที่ท่าข้าวจ.นครสรรค์มีความเหมาะสมจะเป็นศูนย์กลางค้าข้าว เพราะเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญ และมีความพร้อมด้านระบบการขนส่ง จึงจะเป็นศูนย์รวมที่ดึงดูดผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้าข้าวที่มีความหลากหลาย สินค้าที่เกี่ยวข้องและกิจกรรมต่างๆ เป็นโครงข่ายการค้าข้าว  ซึ่งหากทำได้ไทยจะครองความเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวอย่างยั่งยืน และสามารถกำหนดราคาตลาดได้ ทำให้เกิดประโยชน์จริงๆ ไม่เพียงแค่เพิ่มปริมาณการส่งออก แต่ควรต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกด้วย และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา เพื่อจะไม่ต้องแทรกแซงราคาในอนาคต”นางพรทิวากล่าว

ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จ.นครสวรรค์มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการค้าข้าว เพราะเป็นจังหวัดที่พื้นที่ปลูกเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศ และมีผลผลิตเป็นหนึ่งในสามของประเทศ หรือคิดเป็นปริมาณ 9 ล้านตันข้าวเปลือก อีกทั้งยังความหลากหลายของพันธุ์ข้าว อาทิ ข้าวพันธุ์ชัยนาท 80 ข้าวพันธุ์พิษณุโลก 80 ข้าวพันธุ์พื้นเมืองลืมผัว เป็นต้น ทั้งยังมีความพร้อมในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีโรงสีมากกว่า 250 แห่ง มีโกดังเก็บข้าว 15 ล้านตันต่อปี มีการส่งออกข้าวจากจังหวัดมูลค่า 3-5 พันล้านบาท และมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางขนส่งทั้งทางบก โดยจะมีการสร้างรถไฟรางคู่ เสร็จสิ้นภายในปี 2555 ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงการขนส่งข้าวในภูมิภาคต่างๆ และส่งออกไปต่างประเทศ ผ่านท่าเรือเชื่อมกับท่าเรือกรุงเทพฯ และแหลมฉบังได้ด้วย 
  
ส่วนยุทธศาสตร์การส่งออกข้าวไทยในอนาคตจะเน้นเรื่องมูลค่ามากกว่าปริมาณ โดยจะแยกเป็นรายชนิดของข้าว ให้ความมีความชัดเจน  เพื่อให้การผลิตสอดคล้องกับปริมาณความต้องการเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างๆ อย่างเหมาะสม จึงจะสามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกรายอื่นได้ 

“เราทำยุทธศาสตร์ข้าวตามชนิด เช่น หอมมะลิจะทำอย่างไรให้แข่งขันกับข้าวบาสมาติของอินเดียได้ ส่วนข้าวขาว ก็จะมีคุณภาพและไม่กลัวการแข่งขันของเวียดนาม เพราะข้าวขาวเวียดนามเป็นข้าวเกรดต่ำ ไทยจะยอมขายในราคาสูงขายได้น้อยไม่เป็นไรที่เหลือทิ้งให้สุกรกิน แต่เชื่อว่าปริมาณข้าวโลกไม่เหลือเพราะประชากรโลก เพิ่มขึ้นทุกวัน ถึงอย่างไรก็ขายได้ แต่จะทำอย่างไรให้มีความแตกต่าง”นายยรรยงกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.