รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การขายข้าวสต็อกรัฐบาลแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับอินโดนีเซีย 5 หมื่นตัน ในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพข้าวนั้น ขณะนี้ อยู่ในขั้นการจัดหาเอกชนเข้ามาปรับปรุงคุณภาพ โดยใช้ข้าวในสต็อกรัฐบาลเป็นค่าตอบแทน
ส่วนข้อสรุปการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลช่วง ก.ค.-ต.ค. ปริมาณ 3.16 ล้านตัน ตามมติ ครม.วันที่ 3 มิ.ย. 2553 ได้แก่ วันที่ 28 ก.ค. อนุมัติขายให้บริษัทเอเชีย โกลเด้นไรซ์ 362,543 ตัน วันที่ 6 ส.ค. ขายให้กับบริษัทข้าวไชยพร 431,850 ตัน วันที่ 16 ส.ค. ขายให้กับบริษัท แคปปิตอล 508,695 ตัน หนองลังกาฟาร์ม 7,636 ตัน วันที่ 30 ส.ค. ขายให้บริษัทพงษ์ลาภ 286,826 ตัน บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด 845,783 ตัน บริษัทไทยฟ้า 2511 ปริมาณ 250,000 ตัน
วันที่ 22 ก.ย. ขายให้กับบริษัทเอชบีดี ฮาบิดะห์ 83,279 ตัน บริษัทเจียเม้ง 32,000 ตัน บริษัทเค ดับบลิว เอ็ม อินเตอร์ เนชั่นแนล 200,000 ตัน วันที่ 11 ต.ค. ขายให้กับบริษัทเอชบีดีฮาบิดะห์ 8,694 ตัน บริษัทเอ็มที 5,343 ตัน และล่าสุดวันที่ 27 ต.ค. ขายให้กับบริษัทเอชบีดีฮาบิดะห์ 144,830 ตัน และบริษัทเจียเม้ง 393 ตัน
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า การอนุมัติขายข้าวสต็อกรัฐบาลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ขายให้กับบริษัท เอชบีดี ฮาบิดะห์ ปริมาณ 144,830 ตัน และบริษัท เจียเม้ง จำกัด 393 ตัน อาจขัดกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ระงับการระบายข้าวสารสต็อกรัฐบาลไว้ก่อน เนื่องจากเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ แต่กระทรวงพาณิชย์ลงนามโดยนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เสนอเรื่องการระบายข้าวดังกล่าวให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ลงนามอนุมัติการจำหน่าย
ทั้งนี้ ทุกบริษัททำสัญญาซื้อข้าวข้าวหมดแล้ว ยกเว้นบริษัทเอ็มที ที่ยกเลิกสัญญาการขายข้าวไปก่อนหน้านี้ ขณะที่บริษัทเอชบีดีฮาบิดะห์ในส่วนของข้าวจำนวน 1.44 แสนตัน ล่าสุดยังไม่มาทำสัญญา
นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อพร้อมกันนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีรายชื่อของหนองลังกาฟาร์ม ได้รับการอนุมัติขาย 7 พันกว่าตัน ซึ่งเป็นบริษัทของนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีตที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เคยเสนอซื้อมันเส้นในสต็อกรัฐบาลก่อนหน้านี้ด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|