www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

รัฐเปิดจุดรับซื้อข้าวเพิ่ม สกัดม็อบชาวนาปิดถนน


นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า กรณีราคาข้าวตกต่ำจนทำให้เกษตรกรออกมาปิดถนนประท้วงขณะนี้ ตนจะเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยเร็ว ส่วนที่เสนอให้ยกเลิกระบบการประกันราคาไปเป็นรับจำนำนั้น "ขอให้เลิกคิด ผมไม่เปลี่ยน รัฐบาลไม่เปลี่ยน แต่จะดูว่าจะปรับปรุงระบบประกันด้านใดบ้าง"

ทั้งนี้ ตนจะไปตรวจสอบข้อมูลการตั้งโต๊ะรับซื้อ ที่มีชาวนาบ่นว่าไม่เพียงพอ จึงได้หารือกับ รมว.พาณิชย์ ถ้าพบว่าไม่พออาจจะให้สมาคมโรงสีข้าวเพิ่มโต๊ะรับซื้อให้ครบจุด หากไม่เพียงพอจะให้โรงสีที่อยู่นอกบัญชี มาช่วยรับซื้อในราคาประกันตามความชื้น

"เห็นเขาบอกว่าจุดรับซื้อไม่พอ ต้องเพิ่มจุดรับซื้อให้ ผมจะคุยกับนายกสมาคมโรงสี เป็นห่วงพี่น้องชาวนา ยืนยันต้องใช้ระบบประกัน อย่าไปเชื่อใครว่าต้องใช้ระบบจำนำ เพราะจำนำมันโกงกันเยอะ เราถึงใช้ระบบประกันมาแทน ไอ้ที่เคยโกงก็พอแล้วครับ รับประทานไปเยอะแล้ว เลิกได้แล้วเอาระบบใหม่ดีกว่า" นายไตรรงค์กล่าว

พาณิชย์เปิด 30 จุด รับซื้อสัปดาห์นี้

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังประชุมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการแก้ปัญหาราคาข้าวขณะนี้ ว่า กระทรวงมีแนวทางแก้ปัญหาราคาข้าว โดยตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากชาวนาผ่านโรงสี ที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่จำกัดปริมาณ ขณะนี้ มีโรงสีเข้าร่วมแล้ว 21 จุด ใน 8 จังหวัด และตั้งเป้าหมายเปิดจุดรับซื้อข้าวให้ได้ 30 จุด ในเขตภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัดให้ได้ภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ กำหนดราคารับซื้อข้าวในราคาอ้างอิงตามวันที่ 1-15 มี.ค.นี้ คือ ราคาข้าวขาว 5% ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ราคา 9,074 บาทต่อตัน ชาวนาที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถใช้สิทธิชดเชยราคาประกันรายได้เกษตรกร กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ทันที โดยจะได้ส่วนต่างตันละ 936 บาท ในปริมาณ 25 ตันต่อครัวเรือน ทำให้แต่ละครัวเรือนได้ส่วนต่างจากการประกันรายได้ 23,150 บาทต่อครัวเรือน

ส่วนข้าวที่ได้จากการเปิดจุดรับซื้อ จะมีการฝากเก็บเป็นข้าวเปลือกไว้กับโรงสีก่อน ทั้งนี้ ปริมาณข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะมีปริมาณเท่าใด แต่เบื้องต้นช่วงเดือน มี.ค.-ก.ค. จะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 6 ล้านตัน

เร่งเปิดตลาดนัดข้าวเปลือก

รายงานข่าวแจ้งว่า จุดรับซื้อข้าวใน 8 พื้นที่ ประกอบด้วย สุพรรณบุรี 2 แห่ง ชัยนาท 2 แห่ง อยุธยา 2 แห่ง สุโขทัย 2 แห่ง พิษณุโลก 3 แห่ง นครสวรรค์ 1 แห่ง นนทบุรี 1 แห่ง นครปฐม 2 แห่ง

นอกจากนี้ ได้จัดตลาดนัดข้าวเปลือก โดยนำพ่อค้าคนกลางเข้ารับซื้อข้าว จากเกษตรกรโดยตรงเพิ่มขึ้นให้กับเกษตร โดยวันที่ 26-27 ก.พ. ที่ จ.พิษณุโลก 28 ก.พ.-1 มี.ค. ที่นครสวรรค์ และ 3-4 มี.ค.ที่สุพรรณบุรี ขณะนี้ มีข้าวอยู่ในโครงการแล้ว 1,000 ตัน

ส่วนกำหนดราคาอ้างอิงข้าว จะใช้ชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกร ส่วนวันที่ 1-15 มี.ค. 2553 โดยข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาอ้างอิงตันละ 9,074 บาท ชดเชย 926 บาท จากราคาประกัน 10,000 บาท ข้าวปทุมธานี ราคาอ้างอิงตันละ 11,313 บาท ไม่ต้องชดเชย เพราะสูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ 11,000 บาท และข้าวเหนียว ราคาอ้างอิงตันละ 10,665 บาท ไม่ต้องชดเชย เพราะสูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ 9,500 บาท
ยันไม่ระบายสต็อกข้าวทุกรูปแบบ

สำหรับการระบายข้าว จากเดิมมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้มีการนำข้าวที่มีการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกในครั้งนี้ ระบายในตลาดเกษตรล่วงหน้า (เอเฟต) ทันที ที่ประชุมเห็นว่าการระบายข้าวช่วงนี้ อาจจะสร้างความสับสน และเกิดผลกระทบต่อราคาข้าวที่จะออกสู่ตลาด โดยเฉพาะข้าวผลผลิตที่จะออกมาสู่ตลาดเดือน เม.ย.นี้ จึงได้ชะลอการระบายข้าวของรัฐบาลทุกรูปแบบ ทั้งในเอเฟต และการเปิดประมูลทั่วไป ส่วนระยะยาวจะขยายตลาดเพื่อการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ ในลักษณะการค้าระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี และการพัฒนาตลาดส่งออกอื่นๆ ควบคู่ไป

"เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ตลาดสำหรับข้าวใหม่ที่กำลังจะออก จึงงดการระบายข้าวในทุกรูปแบบ จากเดิมที่คาดว่าจะทยอยขายข้าวในตลาดเอเฟตเป็นล็อตเล็กๆ แต่จากสถานการณ์ตอนนี้เกรงว่า จะทำให้เกิดความสับสน กระทบต่อราคาข้าวใหม่ที่จะออกสู่ตลาดได้ กระทรวงพาณิชย์พยายามที่จะเข้าไปพยุงราคาและแก้ไขปัญหาเต็มที่ เพราะมีเกษตรกรชุมนุมประท้วงหลายพื้นที่" นายยรรยง กล่าว

วางแนวทางสอบหามือมืดทุบราคาข้าว

นายยรรยง กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีมีผู้ปล่อยข่าวว่า รัฐบาลจะระบายข้าว 2 ล้านตัน ทำให้มีผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาด ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่า เป็นบุคคลใดปล่อยข่าวลือดังกล่าว เจาะลึกลงไปว่า ใครได้ประโยชน์ กระทรวงพาณิชย์จะตั้งโฆษกข้าว จากผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องข้าวโดยเฉพาะในการให้ข้อมูลสู่สาธารณะ คาดหาผู้รับผิดชอบได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

ผู้ส่งออกชี้ตลาดข้าวสุดฝืด

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวขณะนี้ลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยหลายประการ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ราคาข้าวภายในประเทศ คำสั่งซื้อในตลาดต่างประเทศลดลง จากสาเหตุปริมาณความต้องการน้อย และความกังวลของลูกค้าว่าราคาอาจลดต่ำลง แนวทางแก้ไขขณะนี้เห็นด้วยที่รัฐมีแผนจะทำตลาดรัฐต่อรัฐ เพราะเป็นรูปแบบการค้าที่เอกชนเข้าไม่ถึง

"ตอนนี้คงต้องเร่งระบายข้าว แต่ก็คงไม่ใช่มาระบายทั่วๆ ไป แต่ถ้าเป็นจีทูจี ก็จะไม่กระทบราคาตลาด แต่อาจจะขาดทุนบ้างตอนนี้ก็ต้องเร่งแก้ปัญหาก่อน เนื่องจากข้าวในมือรัฐ โรงสี ผู้ส่งออก และข้าวจากชาวนาที่กำลังจะออกสู่ตลาด จะเป็นแรงกดดันการแก้ปัญหาราคาข้าว" นางสาวกอบสุขกล่าว

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานราคาข้าวไทยในตลาดโลกประจำสัปดาห์ (3 มี.ค.) พบว่าข้าวเกือบทุกรายการราคาลดลงยกเว้นข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว โดยข้าวหอมมะลิชั้น 1 ตันละ 1,133 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 1,116 ดอลลาร์ ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 813 ดอลลาร์ ลดลงจากตันละ 816 ดอลลาร์ ข้าวขาว 100% ตันละ 548 ดอลลาร์ ลดลงจากตันละ 555 ดอลลาร์ ข้าวขาว 5% ตันละ 507 ดอลลาร์ ลดลงจากตันละ 514 ดอลลาร์ ข้าวขาว 25% ตันละ 459 ดอลลาร์ ลดลงจากตันละ 463 ดอลลาร์ และข้าวเหนียวตันละ 726 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 715 ดอลลาร์

เกษตรฯ เผยภัยแล้งคุกคามหนัก

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ขณะนี้ ภัยแล้งได้ขยายวงอย่างกว้างขวาง จากการติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำต่างๆ เริ่มแห้งขอด แต่ยังมีเกษตรกรทำนาปรังต่อเนื่อง ทั้งในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เขตภาคเหนือ และอีสาน ทำให้มีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบ ต่อแผนการใช้น้ำที่วางไว้
"ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังเกินแผนไปแล้วกว่า 17% ภาคอีสานมีการทำนาปรังแล้ว 4 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีการทำเพียง 2 ล้านไร่ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ขอให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน เลิกการทำนาปรังครั้งที่ 2" นายอภิชาตกล่าว

สำหรับสถานการณ์ของการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/2553 ทั่วประเทศ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ 12.28 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 2.78 ล้านไร่ โดยผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 15.16 ล้านไร่ หรือ 23% ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งหมด เป็นข้าวนาปรัง 12.57 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 2.59 ล้านไร่

ส่วนการเพาะปลูกพืชในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา กำหนดพื้นที่ไว้ 6.39 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรัง 5.95 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 4.4 แสนไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 7.80 ล้านไร่ 122% ของแผนการเพาะปลูกในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นข้าวนาปรัง 7.37 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 4.3 แสนไร่ ด้านแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 20,720 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรไปแล้ว 14,296 ล้าน ลบ.ม. หรือ 69% ของแผนจัดสรรน้ำ

"แพร่-เชียงราย" ประสบภัยแล้งหนัก

การจัดสรรน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และผันน้ำบางส่วนจากลุ่มน้ำแม่กลอง ปัจจุบันนำน้ำไปใช้แล้ว 7,002 ล้าน ลบ.ม. 88% ของแผนจัดสรรน้ำคงเหลือปริมาณน้ำ ที่สามารถจะนำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำประมาณ 998 ล้าน ลบ.ม.

นายอภิชาต กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ว 2 จังหวัด คือ แพร่และเชียงราย เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำในเขื่อนแม่กวง และทับเสลา ลดลงเหลือเพียง 30% อีกทั้งน้ำในแม่น้ำหลัก ปิง วัง ยม น่าน และมูล มีระดับลดลงจำนวนมาก ส่วนเขื่อนที่สำคัญ คือ ภูมิพล และสิริกิติ์ ก็มีระดับลดลงเช่นกัน แม้ว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.