|
บุกตลาดข้าวหอม-ปทุม หลังรัสเซียจ่ายหนี้ 36 ล.เหรียญ
|
นายภาษิต พุ่มชูศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ประจำกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าของการดำเนินการทวงหนี้ข้าวจากรัฐบาลรัสเซียว่า หลังจากที่ได้ข้อสรุปผลการเจรจาให้รัสเซียชำระเงินค่าข้าวที่ติดค้างให้กับรัฐบาลไทยเป็นเงิน 36.44 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้วนั้น ขณะนี้ฝ่ายรัสเซีย กำลังอยู่ระหว่างการรายงานผลการเจรจาให้กับคณะรัฐมนตรีรัสเซียทราบ คาดว่า รัสเซียจะสามารถชำระหนี้ข้าวให้กับไทยได้ภายในปลายเดือนธันวาคมนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) จะเป็นผู้ลงนามรับชำระเงินหนี้ ค่าข้าวจำนวนดังกล่าว
"กระบวนการคงแล้วเสร็จภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ หรืออย่างช้าที่สุดอาจจะ ต้นเดือนมกราคมปีหน้า ฝ่ายไทยก็คงจะสามารถรับเงินค่าข้าวได้ เพราะทางรัสเซียต้องเข้ากระบวนการเหมือนกัน และกำลังเตรียมการว่าจะชำระที่ไหน โดยอาจจะนำคณะเดินทางมาที่ประเทศไทย หรือฝ่ายไทยเดินทางมารัสเซียก็ได้" นายภาษิตกล่าว
หลังจากที่ได้รับการชำระหนี้แล้ว สคร.จะเสนอให้กรมส่งเสริมการส่งออกผลักดันการทำตลาดส่งออกข้าวสารมายังตลาดรัสเซียอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะในปัจจุบันประเทศรัสเซียมีกำลังการผลิตข้าวได้เฉลี่ยเพียงปีละ 300,000 ตัน ไม่เพียงพอต่อการบริโภคปีละ 600,000 ตัน จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศอีกราวปีละ 300,000 ตัน โดยส่วนใหญ่นิยมบริโภคข้าวขาวซึ่ง นำเข้าจากไทยปีละ 100,000 ตัน ส่วนปริมาณที่เหลืออีก 200,000-300,000 ตัน รัสเซียนำเข้าจากประเทศอื่น โดยเฉพาะ เวียดนามที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทยมาก
"อุปสรรคในการส่งออกข้าวไปยังรัสเซีย นอกจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งแล้ว ปรากฏข้าวไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ที่ 0.15 EU/กิโลกรัม หรือ 150 EU/ตัน และ ผู้ส่งออกไทยต้องขายข้าวผ่านผู้นำเข้า ส่งผลให้ที่ผ่านมาไม่มีการทำตลาดอย่างจริงจัง ประกอบกับรูปแบบการจัดซื้อข้าวในปัจจุบัน รัสเซียจะใช้วิธีซื้อระหว่างเอกชนและเอกชน (B to B) ไม่ใช้วิธีการเจรจาซื้อขายแบบรัฐบาลกับรัฐบาล (G to G) โดยมีบริษัทผู้นำเข้าข้าวสำคัญอยู่ประมาณ 5 ราย นำเข้าข้าวบรรจุถุงขนาด 50 กิโลกรัม เพื่อมาแบ่งขายเป็นแพ็กขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ไทย ไม่สามารถโปรโมตแบรนด์ข้าวไทยได้" นายภาษิตกล่าว
ส่วนแนวโน้มการขยายตลาดข้าว "น่าจะมีโอกาสดีขึ้น" โดยไทยอาจจะเปิดตลาดข้าวชนิดอื่น ๆ ที่มีราคาสูงกว่าข้าวขาว เพื่อเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคากับข้าวเวียดนาม ซึ่งไทยสู้ไม่ได้อยู่แล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิและข้าวปทุมธานี เพราะรัสเซียเริ่มมีกำลังซื้อ ที่สูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รัสเซียมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยในปีหน้าคาดการณ์ว่า GDP ขยายตัว 4.2% ประชาชนน่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
"หากต้องการเพิ่มมาร์เก็ตแชร์และเพิ่มมูลค่าในตลาดรัสเซีย ก็ต้องทำตลาดสร้างแบรนด์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาทาง รมว.พาณิชย์ก็ได้เดินทางมาพบกับห้างสรรพสินค้าเลนต้า (Lenta) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าอุปโภค/ บริโภค เพื่อดูลู่ทางการทำตลาดสินค้าไทย ในปี 2554 ได้จัดให้ตลาดนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยวางเป้าหมายการส่งออกไปยังรัสเซียเพิ่มขึ้น 35%" นายภาษิตกล่าว
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตัดสินใจเลือกแนวทางให้รัสเซียชำระคืนหนี้ค่าข้าวเป็นเงินสดจำนวนทั้งหมด 36.44 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ค้างชำระมาตั้งแต่ปี 2533 โดยไม่คิดดอกเบี้ยตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งที่ ครม.ไม่พิจารณาก็คือ การขยายข้อตกลงการชำระหนี้ออกไปอีก 5 ปี หรือจากวันที่ 22 ตุลาคม 2551-21 ตุลาคม 2556 โดยมียอดมูลหนี้ ทั้งสิ้น 41 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินต้น 36 ล้านเหรียญสหรัฐ และดอกเบี้ยอีก 4.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ฝ่ายไทยจะไม่คิดดอกเบี้ยในช่วงขยายเวลาดังกล่าว แต่จะใช้สินค้าตามรายการในข้อตกลงเดิมคือ ยุทธปัจจัยต่าง ๆ และเฮลิคอปเตอร์ เป็นต้น มาหักหนี้ ถ้าค่าสินค้าน้อยกว่ายอดหนี้ รัสเซียจะชำระส่วนที่เหลือเป็นเงินสดให้ ซึ่งแนวทางนี้ ครม.เห็นว่าในทางปฏิบัติทำได้ยาก โดยเฉพาะการพิจารณาเลือกสินค้าเพื่อนำมา หักหนี้ ครม.จึงไม่เลือกวิธีการนี้
รัสเซียซื้อข้าวจากไทยตั้งแต่ปี 2533 จำนวน 2 แสนตัน เป็นเงินเชื่อโดยจะชำระภายใน 2 ปี (มีนาคม 2536) และจ่าย ดอกเบี้ย 4% ต่อปี มูลค่าข้าวประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ส่งมอบข้าวให้รัสเซีย ตั้งแต่มกราคม 2534 แต่ปรากฏว่าผ่อนชำระได้เพียง 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สหภาพโซเวียตรัสเซียก็ล่มสลาย แต่ก็ได้พยายามจะชดใช้หนี้ให้ ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ในปี 2537 ผ่อนชำระให้จนถึงเดือน ก.ค. 2541 รวมเป็นเงิน 39.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงนั้นรัสเซียประสบปัญหาทางการเงินจึงหยุดชำระหนี้อีก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|
|
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@thairiceexporters.or.th
Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|