นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2553 ปริมาณประมาณ 9 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 4,950 -5,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นคาดการณ์ปริมาณส่งออกต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ที่ 9.5-10 ล้านตัน
ปริมาณ 9.5-10 ล้าน ที่คาดการณ์กันนั้นสูงเกินไป ปริมาณผลผลิตไทยได้รับความเสียหาย จากเพลี้ยกระโดดและปัจจัยราคาข้าวที่สูงขึ้นมาก อาจทำให้ปริมาณการซื้อขายลดลง แต่ในปี 2553 มูลค่าการส่งออกสูงขึ้น ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20-30%
"ปีนี้เรากำหนดเป้าหมายแบบสบายๆ ทำได้แน่ ในปริมาณ 9 ล้านตัน และที่สหรัฐคาดว่าเราจะส่งออกได้ 10 ล้านตัน เป็นไปไม่ได้ เพราะราคาสูงเกินไป ที่จะส่งออกได้มากขนาดนั้น และปริมาณผลผลิตไทยไม่ได้สูงอย่างที่คิด" นายวิจักร กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ผลผลิตข้าวโลก จะมีปริมาณ 432.09 ล้านตัน ลดลง 3.07% การบริโภคข้าวโลก จะมีประมาณ 436.84 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.31% การค้าข้าวโลกจึงมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สต็อกข้าวโลก ต้นปียังมีปริมาณมากประมาณ 90.67 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวไม่สูงมากเหมือนปี 51
การค้าข้าวโลกคาดว่าจะมีประมาณ 30.35 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 5.80%เนื่องจากหลายประเทศ มีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตข้าวที่ลดลงจากภัยธรรมชาติ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จึงส่งผลให้ระบบการเงินของโลกปรับตัวดีขึ้น
ส่วนผลผลิตข้าวไทยในปี 2552/2553 จะมีปริมาณ 31.489 ล้านตันข้าวเปลือก (20.8 ล้านตันข้าวสาร) แบ่งเป็นข้าวนาปี 23.245 ล้านตันข้าวเปลือก (15.4 ล้านตันข้าวสาร) และข้าวนาปรัง 8.244 ล้านตันข้าวเปลือก (5.4 ล้านตันข้าวสาร) ลดลง 0.63%
การส่งออกข้าวในปี 2552 มีปริมาณ 8.57 ล้านตันเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8.5 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้น 0.8% ขณะที่มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% จากที่คาดว่าอยู่ที่มูลค่า 4,505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายวิจักร กล่าวว่า การบริหารจัดการสต็อกข้าวรัฐ ปริมาณ 5-6 ล้านตัน เบื้องต้นมีความชัดเจนแล้วว่า จะระบายข้าวออกมาเร็วๆ นี้ แต่จะระบายออกมาในปริมาณเท่าใดในแต่ละครั้งนั้น รวมถึงวิธีการระบาย ต้องรอการพิจารณาจากฝ่ายนโยบายอีกครั้ง
นายวิจักร กล่าวด้วยว่า กรมฯได้จัดสรรโควตาข้าวไปยังสหภาพยุโรปปี 2553 แล้ว โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยในปี 2553 ข้าวขาวมีการจัดสรรปริมาณรวมทั้งสิ้น 21,455 ตัน ผู้ได้รับจัดสรรจำนวน 106 ราย ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ขณะที่นอกโควตาต้องเสียภาษีสูงถึง 145%ของมูลค่าข้าวที่นำเข้า โดยผู้ได้รับจัดสรรสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ บริษัท วุฒิชัยโปรดิวส์ จำกัด ปริมาณ 2,721 ตัน บริษัท ยูนิเวอร์แซลไรท์ จำกัด ปริมาณ 2,424 ตัน บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด ปริมาณ 2,019 ตัน
ข้าวหักมีปริมาณจัดสรรรวมทั้งสิ้น 52,000 ตัน ผู้ได้รับจัดสรร จำนวน 12 ราย ที่จะเสียภาษีนำเข้าในโควตา 45% ของมูลค่าข้าว ขณะที่นอกโควตาจะเสียภาษี 65%ของมูลค่าข้าว ผู้ส่งออกที่ได้รับจัดสรรสูงสุดได้แก่ บริษัท ข้าวศรีไทยใหม่ จำกัด ปริมาณ 13,407 ตัน บริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด ปริมาณ 9,239ตัน บริษัท ดับบลิวแอนด์พีเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ปริมาณ 8,163 ตัน
หลักเกณฑ์จัดสรร ยึดอัตรา 80 : 20 โดย 80% จัดสรรให้แก่ผู้ส่งออก ที่มีประวัติการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปในช่วงสามปีย้อนหลัง ที่เหลือ 20% จัดสรรให้แก่ผู้ส่งออกข้าวที่มีปริมาณ หรือมูลค่าการส่งออกข้าวในปี 2552 สูงกว่าปี 2551 โดยแบ่ง 10% ให้แก่ผู้ส่งออกข้าวที่ปริมาณส่งออกสูงขึ้น และอีก 10% ให้แก่ผู้ส่งออกข้าวที่ส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |