นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ระดับชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมาดูแล ติดตามผลกระทบต่อสินค้าเกษตร หลังการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา)
“ขณะนี้แม้จะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในส่วนของข้าว ถ้าลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ไทยจะได้ประโยชน์ และสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ซึ่งปัจจุบันผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 453 กก.ต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยในอาเซียนอยู่ที่ 638 กก.ต่อไร่ จึงได้ตั้งเป้าที่จะขยับผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเท่าเกณฑ์เฉลี่ยของอาเซียน” นายนิกร กล่าว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้พบปะเกษตรกรในหลายเวทีพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและรู้จักเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่มีการลดภาษีเป็น 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่เกษตรกรมีความพร้อม ในการปรับตัวรองรับผลกระทบ โดยต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิต ปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
"การเปิดอาฟตา สินค้าเกษตรไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้มากขึ้นและสินค้าวัตถุดิบนำเข้า มีราคาถูกลงทำให้ลดต้นทุนการผลิตเพื่อส่งออก แต่มีสินค้าเกษตรบางรายการ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น ปาล์มน้ำมันและข้าว" นายอภิชาต กล่าว
ทั้งนี้ในส่วนของข้าว แม้ว่าในภาพรวมของการเปิดเขตการค้าเสรี จะไม่ได้รับผลกระทบนัก แต่กระทรวงเกษตรฯกังวลข้าวด้อยคุณภาพลักลอบเข้ามา ผ่านตามแนวชายแดน ซึ่งยากต่อการควบคุมและตรวจสอบแหล่งที่มา ทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาข้าวของเกษตรกรได้
กระทรวงเกษตรฯได้ทำหนังสือขอความร่วมมือ ในการควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารตามแนวชายแดนไทย ไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมศุลกากร เพื่อป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร ในส่วนที่อยู่นอกเขตด่านของกระทรวงเกษตรฯอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนผลกระทบปาล์มน้ำมัน จะต้องแก้ปัญหาโดยปรับปรุงกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาการผลิตปาล์มทั้งระบบ ให้สามารถแข่งขันได้ พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในการผลิต
ปี 2551ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปอาเซียน 146,000 ล้านบาท นำเข้า 44,400 ล้านบาท เกินดุลการค้า 102,000 ล้านบาท ในภาพรวมจึงถือว่าประเทศไทยได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากไทยมีศักยภาพการผลิตสูงกว่าประเทศในอาเซียน และการลดภาษีเป็น 0% คาดว่าจะผลักดันให้จีดีพีในปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.75% มูลค่าประมาณ 204,000 ล้านบาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |