นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำขณะนี้ ว่า ความเดือดร้อนของชาวนาไม่ได้เกิดจากระบบประกันรายได้เกษตรกรเกวียนละ 1 หมื่นบาท แต่ที่ชาวนาเดือดร้อนมาจากปัญหาภัยแล้งและเพลี้ยกระโดด จนทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งต้องแยกปัญหาออกจากกัน และรัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือทางอื่น ไม่ใช่ปรับราคา ส่วนชาวนาที่รีบขายข้าวเพราะความชื้นมาก ก็เก็บหลักฐานไว้ รัฐบาลจะช่วยเหลือ
ส่วนการแก้ปัญหาขายข้าวนั้น ตนจะเดินทางไปเจรจาขยายตลาดแอฟริกา และกลุ่มอาหรับ เพราะขณะนี้ มีความต้องการข้าวสูง เพราะปัญหาภัยแล้ง แต่ช่วงนี้ชะลอสั่งซื้อข้าวจากไทย ซึ่งก่อนเจรจาหาตลาดต่างประเทศ ต้องไล่เช็คสต็อกข้าวรัฐบาลก่อนว่ามีปริมาณเท่าใด เพื่อบริหารจัดการสต็อกได้ถูกต้อง แต่ขณะนี้ ยืนยันไม่มีการระบายข้าวในสต็อก
ชี้ม็อบการเมืองผสมโรงกลุ่มชาวนา
กรณีมีชาวนาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาตกต่ำนั้น นายไตรรงค์? กล่าวว่า การแก้ปัญหาด้วยเท้าไม่เกิดประโยชน์ ใช้ปากดีกว่า เพราะเราก็มีใจแก้ไขอยู่แล้ว และยังมีบางกลุ่มเข้ามาผสมโรง ทำให้เกิดความวุ่นวาย? บ้านเมืองต้องมีหลัก ตนดูแลก็ต้องมีหลัก ไม่ใช่โอนอ่อนผ่อนตาม
นอกจากนี้ บางส่วนยังเป็นการเคลื่อนไหวของม็อบการเมือง หรือกลุ่มพวกที่เคยได้ประโยชน์ เคยโกง และร่ำรวยมาจากโครงการจำนำข้าว ก็ต้องการให้กลับไปใช้โครงการจำนำ อย่างไรก็ตาม จะไม่สกัดกั้นแต่จะใช้วิธีชี้แจง ซึ่งชาวนามีสติปัญญาอยู่แล้ว
"ผมก็ลูกชาวนา คนที่ยุแหย่อาจไม่ใช่ลูกชาวนา ระบบประกันที่ทำอยู่ตอนนี้ดีแล้ว ชาวนาได้ประโยชน์ 3 ล้านครอบครัว แต่การจำนำได้ประโยชน์ 3 แสนราย และประโยชน์กระจุกตัว คนพวกนี้ได้ประโยชน์จากประกันราคาข้าว แต่ชาวนาถูกเอาเปรียบ คนยุก็ไม่ใช่ลูกชาวนา แต่พยายามจะโยงให้เกิดความปั่นป่วน ทำให้การเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจ จึงมีทั้งปัญหาข้าวจริง กับส่วนที่พยายามโยงเรื่องอื่นๆ "
"พรทิวา" ปัดหวนรับจำนำข้าวนาปรัง
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เร่งตรวจสต็อกข้าวรัฐ 5.6 ล้านตัน ส่วนที่ฝากเก็บไว้กับโรงสี จะทราบข้อมูลว่ามีการลักลอบนำข้าวไปขายในตลาด เพื่อหวังกำไรจากราคาที่สูงขึ้นก่อนนี้หรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสต็อกครั้งนี้จะดำเนินการใน 1 สัปดาห์ ส่วนการยื่นหนังสือของสมาคมชาวนา ที่เรียกร้องให้เปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2553 ราคาข้าวขาวตันละ 1.2 หมื่นบาทนั้น ดำเนินการได้ยาก เพราะนโยบายรัฐบาลยืนยันใช้โครงการประกันรายได้เป็นหลัก แม้โครงการนี้จะมีปัญหาความล่าช้าโดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนเกษตรกร แต่ก็จะเร่งแก้ไข
"เราเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐ เรื่องเปิดโครงการรับจำนำตอนนี้ยาก ส่วนราคาเชื่อว่าถ้าดูแลให้ดี ราคาตลาดจะกลับมาสูงได้ไม่ยาก"
ไล่เช็คสต็อกข้าวบีบผู้ส่งออกซื้อในตลาด
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายไตรรงค์ ได้สั่งให้ นางพรทิวา เช็คสต็อกข้าวรัฐบาลในโกดังกลางและโรงสีข้าวทั่วประเทศ จำนวน 5.6 ล้านตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจเช็คสต็อกข้าวในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ส่วนการเปิดจุดรับซื้อข้าวรัฐบาล ว่า เปิดไปแล้ว 26 จุดใน 10 จังหวัด แบ่งเป็น นครสวรรค์ 4 จุด พิษณุโลก 3 จุด เชื่อว่าสัปดาห์นี้จะเปิดได้กว่า 30 จุด
ที่ผ่านมา มีข้อมูลตรวจเช็คไปบ้างแล้ว แต่ขณะนี้ สถานการณ์ข้าวที่อยู่ในมือผู้ส่งออกอยู่ในสถานการณ์ตึงตัว เพราะข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือรัฐบาลและรัฐบาลยังไม่มีนโยบายระบายข้าวช่วง 3-4 เดือนนี้ หากผู้ส่งออกต้องการข้าว ก็ให้ไปซื้อข้าวกับโรงสี หรือเกษตรกรโดยตรง
"การที่รัฐบาลสั่งตรวจสต็อกอีกครั้ง เพราะเกรงว่าอาจจะมีวิธียักยอก นำข้าวในโกดังหรือโรงสีไปขาย จึงต้องตรวจเช็คข้อมูลต่อเนื่อง หากพบการกระทำดังกล่าว ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชนจะเข้าข่ายยักยอก จะถูกดำเนินคดี ขึ้นบัญชีดำ ยึดใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งการตรวจสอบจะเน้นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน"
ผู้ส่งออกหนุนเช็คสต็อกข้าวรัฐ
นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า การเช็คสต็อกข้าวเป็นสิ่งที่ดี หากจะเร่งตรวจสอบสต็อกข้าวในส่วนของโรงสี และของรัฐบาลด้วย เพราะเป็นไปได้ว่าจะมีการนำข้าวที่รัฐฝากเก็บไว้ไปขายทำกำไร ส่วนข้าวสารหากจะนำไปหมุนเวียนเพื่อทำกำไรส่วนต่างราคาเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ข้าวเปลือกมีความเป็นไปได้สูง ทั้งนี้ เชื่อว่าหากพฤติกรรมดังกล่าวมีจริง การตรวจสต็อก จะทำให้ผู้ที่นำข้าวรัฐไปขายต้องเร่งหาซื้อข้าวมาเติมสต็อก แม้ดำเนินการเอาผิดไม่ได้ แต่เป็นผลดีในแง่การดึงซัพพลายออกจากตลาด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำขณะนี้ เกิดจากการกักตุนเพื่อเก็งกำไร เพราะเชื่อว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น แต่ความจริงความต้องการไม่สูงดังที่คาด อาทิเช่น อินเดีย เดิมมีแผนนำเข้าข้าว 1-2 ล้านตัน ขณะนี้ยังไม่นำเข้า และข้าวไทยยังต้องแข่งขันกับเวียดนาม ที่ราคาต่ำกว่าไทยตันละ 100 ดอลลาร์
ค้าภายในเชื่อราคากระเตื้องใน 2 สัปดาห์
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ราคาข้าวจะปรับตัวดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์นี้ หลังรัฐเปิดรับซื้อข้าวเกษตรกร ขณะนี้ ดำเนินการแล้ว 28 แห่ง ซึ่งการหารือกับโรงสีข้าวนั้น จะเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาเงื่อนไขรับฝากข้าวเพิ่มเติม ได้แก่ โรงสีที่เข้าร่วมโครงการต้องรับซื้อข้าวเปลือกคืนจากรัฐบาล ทำได้ 2 ทาง คือ 1. ฝากข้าวไว้ 1 เดือน ให้โรงสีทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดสินค้าเกษตร (อ.ต.ก.) ต้องรับซื้อคืนในเวลากำหนด โดยไม่รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพ ในอัตราตันละ 55 บาทต่อเดือน 2. ฝากข้าวไว้ 3 เดือน ให้โรงสีทำสัญญากับ อคส.และ อ.ต.ก.ให้ซื้อคืนข้าวในเวลากำหนด จะได้รับค่าฝากเก็บ กรณีโรงสีที่เข้าร่วมโครงการไม่ซื้อข้าวเปลือกคืน ให้ระบุในสัญญา โดยโรงสีจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพ อัตราตันละ 55 บาทต่อเดือน
"สาเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำลงน่าจะมาจากผลทางจิตวิทยา ราคาอ้างอิงสัปดาห์นี้เทียบกับสัปดาห์ก่อนราคาลดลง และที่ผู้ส่งออกข้าวไม่มีคำสั่งซื้อช่วงนี้ แต่เชื่อว่าหลังจากรัฐแก้ปัญหาต่างๆ แล้ว ภายใน 1-2 สัปดาห์ จากนี้ราคาจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนการให้ตรวจสต็อกข้าวขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่ง"
ชาวนายื่นหนังสือขอรัฐเข้าจำนำ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือขอเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 2553 ให้นางพรทิวา พิจารณา เพราะสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกขณะนี้ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรมีปัญหาโรคระบาด-แมลง และภัยแล้งจนผลผลิตลดลง
ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ผ่านมา ไม่สามารถชดเชยให้เกษตรกรได้ รวมทั้งโครงการล่าช้ามากและไม่ส่งผลดีต่อการค้าข้าว จนทำให้เกษตรกรไม่มั่นใจ จนมีการชุมนุมประท้วง ดังนั้น สมาคมชาวนาไทย จึงเสนอให้รัฐบาลนำโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2553 กลับมาดำเนินการเร่งด่วน โดยรับจำนำข้าวเปลือก 5% ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 1.2 หมื่นบาท เพื่อช่วยเกษตรกรที่เดือดร้อนจากต้นทุนสูงขึ้น และผลผลิตลดลง รวมทั้งดึงข้าวส่วนเกินออกจากตลาด เพื่อยกระดับราคาข้าวขึ้นด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|