นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะคณะทำงานระบายข้าว กำหนดแนวทางการระบายข้าวตามยุทธศาสตร์ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เดิมที่กระทรวงได้ทำไว้ โดยมี 4-5 แนวทาง เช่น การระบายรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี), การเปิดให้เสนอซื้อ, การเปิดประมูล เป็นต้น วิธีระบายจะระบาย สต๊อกให้เหมาะสมกับตลาด เน้นไปที่ข้าวที่มีราคาดีก่อน อาทิ ข้าวเหนียว ประมาณ 50,000-60,000 ตัน, ข้าวหอมปทุมธานี ประมาณ 300,000 ตัน หรือระบายข้าวเก่าตั้งแต่ปี 44/45 ซึ่งรัฐบาลต้องแบกรับภาระค่าจัดเก็บเดือนละ 700 ล้านบาท
"ในส่วนของการเจรจาขายข้าวแบบ จีทูจี จะเดินทางไปรัสเซียกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเจรจาขายข้าวเพิ่ม รวมทั้งทวงหนี้ค้างชำระค่าข้าวในอดีต ส่วนที่มีคุยไว้ เช่น อิรัก, มาเลเซีย, มาเก๊า และอินเดียยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งในการประชุม ครม.ได้ขอแนวทางกำหนดราคาขายข้าวแบบมิตรภาพ ซึ่งคณะทำงานต้องดูว่าจะต่ำกว่าราคาตลาดปกติเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม เพื่อรักษาฐานตลาดลูกค้าไว้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้ระบายข้าวมานานแล้ว อีกทั้ง ราคาข้าวเวียดนามก็ต่ำกว่าข้าวไทยมาก จนทำให้ไทยเสียตลาด เมื่อประเทศผู้นำเข้าใช้ราคาข้าวเวียดนามเป็นเกณฑ์ในการต่อรองราคาข้าวไทย" นางพรทิวากล่าว
ขณะที่ นายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การระบายข้าวนั้นจะต้องคำนึงถึงปริมาณและราคาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาวะตลาด และหลังจากนั้นให้เสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาการระบายจำหน่ายข้าวสาร ที่มีนางพรทิวาเป็นประธานอนุมัติ และรายงานให้ประธาน กขช. หรือรองประธาน กขช. นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบก่อนลงนามสัญญากับคู่สัญญาต่อไป
ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีการดึงอำนาจการระบายข้าวสารจากกระทรวงพาณิชย์มาให้ ครม.พิจารณา จนสร้างปัญหาการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐ และไม่สามารถระบายข้าวได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะมัวแต่มาเสนอราคา ทั้ง ๆ ที่ข้าวมีราคาขึ้นลงทุกวัน ส่งผลให้ข้าวคุณภาพเสื่อมลง และเสียตลาดในการส่งออก อีกทั้งรัฐบาลยังต้องเสียงบประมาณในการดูแลรักษาคุณภาพ ปีหนึ่งนับหลายพันล้านบาท ที่สำคัญยังทำให้ราคาข้าวในตลาดเกิดการผันผวนและตกต่ำ เพราะรัฐบาลมีสต๊อกมากเกินไป จนกลายเป็นภาระต่อเนื่องให้รัฐบาลเสียงบประมาณแทรกแซงราคาข้าวเปลือกมหาศาล
ด้าน นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลควรเปิดให้มีการประมูลข้าวสารเหนียวในสต๊อกของรัฐบาลก่อน เพราะขณะนี้ราคาข้าวเหนียวในตลาดปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจากปริมาณการผลิตในช่วงที่ผ่านมาลดลง และความต้องการซื้อยังคงมีมาก โดยขณะนี้ราคาข้าวเหนียวใหม่ ตันละ 24,000 บาท ส่วนข้าวเหนียวเก่าตันละ 18,000 บาท หากรัฐบาลยอมขายในราคา 20,000 บาท/ตัน ก็จะได้กำไรและลดความสูญเสียของรัฐบาลได้ เพราะต้นทุนการจำนำข้าวเหนียวของรัฐบาลตกเพียงตันละ 13,000-14,000 บาทเท่านั้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|