www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ก.พาณิชย์หวังสูง ข้าว'จีทูจี'อิรัก 2.4 ล.ตัน


กรณีรัฐบาลอิรักแสดงความสนใจที่จะซื้อข้าวจากไทยในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจีกับไทย โดยได้ส่งระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการค้ามาเจรจากับกระทรวงพาณิชย์ของไทย เบื้องต้นได้แสดงความจำนงที่จะซื้อข้าวขาว 5% ในสต๊อกของรัฐบาลปริมาณ 100,000 ตันต่อเดือน ส่งมอบเป็นล็อตๆ นาน 12 เดือน รวมประมาณ 2.4 ล้านตัน

นายมนัส  สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ความคืบหน้าล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งร่างเงื่อนไขสัญญาขายข้าวจีทูจีของรัฐบาลไทยให้เจ้าหน้าที่ของอิรักไปนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจในรัฐบาลอิรักแล้ว คาดในสัปดาห์หน้าทางอิรักจะตอบกลับมาว่าเงื่อนไขสัญญาที่เขาต้องการเป็นอย่างไรไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณความต้องการ เรื่องราคา ระยะเวลา และการส่งมอบ และอื่นๆ หลังจากนั้นทางรัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ จะได้เรียนเชิญผู้บริหารของรัฐบาลอิรักที่มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อข้าวมาหารือในรายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงการเจรจาต่อรองและลงนามในสัญญาต่อไป

ในส่วนสาระสำคัญของไทยที่จะขายข้าวจีทูจีให้กับอิรักครั้งนี้คือ จะเป็นราคามิตรภาพต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้เกิดการทำสัญญาซื้อขาย เพราะการซื้อข้าวจีทูจีสำหรับอิรักถือเป็นเรื่องใหม่ จากก่อนหน้านี้การนำเข้าเป็นการเปิดประมูลซื้อจากภาคเอกชนเป็นหลัก อย่างไรก็ดีสำหรับการขายจีทูจีทางกรม อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างสัญญาซื้อขายต้นแบบ เพื่อใช้เป็นสัญญามาตรฐานในการซื้อขาย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป  เช่น กรณีของอิรักที่จะมีการสั่งซื้อเป็นล็อตๆ นาน 24 เดือน ซึ่งราคาขายและช่วงอาจไม่เท่ากัน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยจะได้เสนอให้สำนักงานอัยการสูงสุดช่วยพิจารณาร่างสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

"ดิวข้าวจีทูจีอิรักนี้ผมได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีพาณิชย์ว่า ต้องพยายามดำเนินการให้สำเร็จ แต่จะได้ตามเป้าหมาย100 %คือ 2.4 ล้านตัน หรือได้ 70 - 80 %ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่แนวโน้มน่าจะเป็นไปทิศทางที่ดี"

นายมนัส กล่าวอีกว่า นอกจากอิรักแล้ว ไทยยังมีแผนที่จะขายข้าวจีทูจีอีกหลายประเทศ ล่าสุดนายไตรรงค์  สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้ตอบรับที่จะเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเจรจาขายข้าวจีทูจีกับรัฐบาลมาเลเซียและบรูไน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้รับคำสั่งซื้อไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกันในสัปดาห์หน้าทางกรมจะนำเสนอแนวทางการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล เบื้องต้นกำหนดไว้ 5 วิธี ได้แก่ การขายระบบจีทูจี การเปิดประมูลขายปกติให้กับภาคเอกชน การขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) การขายให้กับหน่วยงานระหว่างประเทศ และการบริจาคเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่นกรณีแผ่นดินไหวในเฮติ

ขณะที่นางพรทิวา  นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง การระบายจีทูจีว่า เป็นแนวทางที่รองนายกรัฐมนตรี(ไตรรงค์  สุวรรณคีรี) เห็นว่าเหมาะสมเพราะจะไม่ทำลายราคาตลาด แต่ก็คงทำได้เพียงส่วนหนึ่ง เช่น ถ้าผู้ซื้อต้องการข้าว 1 ล้านตัน ก็อาจจะขายจีทูจีเพียง 1-2 แสนตัน เพราะราคาขายจีทูจีต่ำกว่าราคาตลาดปกติ ส่วนที่เหลือก็จะขายด้วยวิธีปกติ ซึ่งก็มีหลายวิธี เช่น ประมูลขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ก็กำลังดูอยู่

ทั้งนี้นางพรทิวา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมข้าวภาคเหนือ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค. 2553 ณ ท่าข้าวกำนันทรง จ.นครสวรรค์ ว่า จากการที่เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้ประเทศไทย มีความเสี่ยงสูงในการเป็นผู้นำในการส่งออกข้าว เนื่องจากต้นทุนและราคาข้าวไทยสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน ของประเทศต่างๆ ทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงขึ้น เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ประเทศผู้ซื้อจึงหันไปนำเข้าข้าวราคาต่ำจากประเทศอื่นแทนประเทศไทย

กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ท่าข้าวกำนันทรง เป็นศูนย์กลางการค้าข้าว (Hub of Rice)  เพราะ จังหวัดนครสรรค์เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญ และมีความพร้อมด้านระบบการขนส่ง จึงสามารถเป็นศูนย์รวมที่ดึงดูดผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้าข้าวที่มีความหลากหลาย สินค้าที่เกี่ยวข้องและกิจกรรมต่างๆ เป็นโครงข่ายการค้าข้าว 

"หากทำได้ไทยจะครองความเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวอย่างยั่งยืน และสามารถกำหนดราคาตลาดได้ ทำให้เกิดประโยชน์จริงๆ ไม่เพียงแค่เป็นแชมป์ด้านปริมาณการส่งออกเท่านั้น แต่ควรต้องเป็นแชมป์ด้านมูลค่าการส่งออกด้วย และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา เพื่อจะไม่ต้องแทรกแซงราคาในอนาคต"

ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการค้าข้าว เพราะเป็นจังหวัดที่พื้นที่ปลูกเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศ และมีผลผลิตเป็นหนึ่งในสามของประเทศ หรือคิดเป็นปริมาณ 9 ล้านตันข้าวเปลือก อีกทั้งยังความหลากหลายของพันธุ์ข้าว อาทิ ข้าวพันธุ์ชัยนาท 80 ข้าวพันธุ์พิษณุโลก 80 ข้าวพันธุ์พื้นเมืองลืมผัว เป็นต้น ทั้งยังมีความพร้อมในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีโรงสีมากกว่า 250 แห่ง มีโกดังเก็บข้าว 15 ล้านตันต่อปี มีการส่งออกจากจังหวัดมูลค่า 3-5 พันล้านบาทต่อปี และมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางขนส่งทั้งทางบก โดยจะมีการสร้างรถไฟรางคู่ เสร็จสิ้นภายในปี 2555 ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงการขนส่งข้าวในภูมิภาคต่างๆ และส่งออกไปต่างประเทศ ผ่านท่าเรือเชื่อมกับท่าเรือกรุงเทพฯ และแหลมฉบังได้ด้วย

นายยรรยง กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์การส่งออกข้าวไทยในอนาคตจะเน้นเรื่องมูลค่ามากกว่าปริมาณ โดยจะแยกเป็นรายชนิดของข้าว ให้มีความชัดเจน  เพื่อให้การผลิตสอดคล้องกับปริมาณความต้องการเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างๆ อย่างเหมาะสม จึงจะสามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกรายอื่นได้ 

"เราทำยุทธศาสตร์ข้าวตามชนิด เช่น หอมมะลิจะทำอย่างไรให้แข่งขันกับข้าวบาสมาติของอินเดียได้ ส่วนข้าวขาว ก็จะมีคุณภาพและไม่กลัวการแข่งขันของเวียดนาม เพราะข้าวขาวเวียดนามเป็นข้าวเกรดต่ำ ไทยจะยอมขายในราคาสูงขายได้น้อยไม่เป็นไรที่เหลือทิ้งให้สุกรกิน แต่เชื่อว่าปริมาณข้าวโลกไม่เหลือเพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้นทุกวัน ถึงอย่างไรก็ขายได้ แต่จะทำอย่างไรให้มีความแตกต่าง"

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.