นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้กลุ่มมิจฉาชีพที่เคยตระเวนโจรกรรมสินค้าทางน้ำ ที่ถูกต้องสมญานามว่าแก๊งแมวน้ำที่ลักลอบจากเรือลำเลียงสินค้าขณะขนส่งไปขึ้นเรือใหญ่เพื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ยังปราบไม่หมดไม่สิ้นนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการโจรกรรมแนวใหม่ จากทางน้ำมาเป็นทางบก ที่เรียกว่า "แก๊งคอนเทนเนอร์" โดยขณะนี้ทางสมาคมได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกว่า สินค้าข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นชนิดข้าวที่มีราคาแพงที่สุด ได้ตกเป็นเป้าหมายใหม่ โดยสินค้าได้ประสบการสูญหายมากที่สุด โดยเฉพาะในเส้นทางก่อนถึงท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากเป็นระยะทางที่ค่อนข้างไกล ดูแลยากและไม่ทั่วถึง
แฉวิธีฉกแก๊งคอนเทนเนอร์
สำหรับวิธีการที่แก๊งโจรกรรมกลุ่มนี้ใช้ คือ หลังจากที่ผู้ส่งออกและเจ้าหน้าที่บริษัทตัวแทนคู่ค้า รับมอบตรวจสอบสินค้าครบเรียบร้อยแล้วที่หน้าโกดัง จะขนส่งสินค้าทางรถคอนเทนเนอร์ เพื่อนำไปลงเรือขนส่งไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งในระหว่างเส้นทางการขนส่งทางรถ โจรกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ได้อย่างไร ทั้งที่ซีลตะกั่วที่
ล็อกปิดประตูตู้คอนเทนเนอร์ยังอยู่ โดยไม่ได้มีร่องรอยงัดแงะแต่อย่างใด ขณะที่น้ำหนักตู้ก็ยังไม่ผิดปกติมากนัก เพราะแก๊งนี้จะใช้วิธีลักเพียงแค่ 3-4 ตัน จากน้ำหนักรวมประมาณ 20 ตัน จึงทำให้น้ำหนักหายไม่มากนัก เวลาขนถ่ายสินค้าจากรถขึ้นเรือจึงไม่ผิดสังเกต
อัพเกรดเล็งเป้าหอมมะลิ
สำหรับสินค้าที่ถูกโจรกรรมมากที่สุดในเวลานี้ ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวหอมมะลิ เพราะราคาแพง และข้าวส่วนใหญ่ที่หายจะบรรจุเป็นแพ็กเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 10 หรือ 5 กิโลกรัม คาดว่าหลังจากที่ขโมยไปแล้วแก๊งเหล่านี้ จะนำไปตัดถุงแล้วเทกองขายให้กับยี่ปั๊วซาปั๊ว
"แก๊งโจรกรรมข้าวกลุ่มนี้มีวิธีการที่แยบยลมาก สามารถขนข้าวออกจากตู้คอนเทนเนอร์ไปได้ โดยไม่ทราบเลยว่ามีการงัดแงะหรือใช้วิธีไหน กว่าจะรู้ว่าสินค้าหายก็เมื่อถึงมือผู้รับปลายทางเรียบร้อยแล้ว ส่วนมูลค่าความเสียหายรวมแล้วหลายล้านบาท"
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ขบวนการโจรกรรมข้าวกลับมาอีกครั้ง และเริ่มมีความรุนแรงขึ้นอีก อาจเป็นเพราะข้าวหอมมะลิราคาแพง ราคาตลาดโลกดีดตัวสูงถึงตันละกว่า 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุดทางสมาคมได้เตรียมส่งหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอความช่วยเหลือให้จับกลุ่มแก๊งดังกล่าว ซึ่งในการประชุมของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยครั้งล่าสุด เมื่อ 28 กรกฎาคม 2553 มีสมาชิกได้ร้องเรียนว่า ได้รับความเสียหายแล้วประมาณ 10 ราย ดังนั้น หากปล่อยให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกข้าวไทยได้ อีกทั้งอาจเป็นการซ้ำเติมการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ยังขยายตัวได้ไม่ดีนักให้แย่ลงไปอีก
อนึ่ง สินค้าข้าวหอมมะลิซึ่งมีราคาสูง การส่งออกนิยมใส่ตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนข้าวขาวจะขนส่งโดยเรือลำเลียงไปขึ้นเรือใหญ่ เพราะราคาไม่แพงมาก แต่ก็มักประสบกับปัญหาถูกโจรกรรมจากแก๊งแมวน้ำ
ยักษ์ซี.พี.ร้องชุกชุมหนัก
นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า บริษัทถือเป็นผู้เสียหายรายล่าสุด โดยสินค้าที่สูญหายยังไม่แน่ใจว่าถูกโจรกรรมระหว่างการส่งทางรถลากคอนเทนเนอร์ไปลงเรือใหญ่ เพื่อขนส่งไปยังประเทศปลายทาง หรือสูญหายระหว่างที่เรือขนส่งวิ่งอยู่กลางทะเล หรือในน่านน้ำของประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ดีจากการที่สินค้าถูกโจรกรรม มีผลให้จำนวนสินค้าเมื่อถึงปลายทางไม่ครบตามจำนวน โดยล่าสุดหนักข้อมากขึ้น เพราะสินค้าข้าวบางตู้มีน้ำหนักรวม 20 ตัน สินค้าหายไปถึง 5 ตัน หรือหายไป 25% ทั้งนี้ความเสียหายทั้งหมดของบริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล
"ช่วงหลังมานี้สินค้าข้าวของบริษัท ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว รวมถึงข้าวนึ่งส่งออก ถูกโจรกรรมหลายครั้ง ทั้งที่ต้นทางจากโรงงานและจากท่าเรือ ได้มีการซีลตู้ป้องกันอย่างดี แต่ปรากฏพอถึงปลายทาง ลูกค้าร้องเรียนมาว่าได้สินค้าไม่ครบ ซึ่งแม้บริษัทประกันภัยจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และไปเคลมเอากับสายเดินเรือ แต่ลูกค้าก็ต้องมาสอบถามเรา ว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้อย่างไร ทำให้ชื่อเสียงของผู้ส่งออกไทยในภาพรวมได้รับความเสียหาย ซึ่งสินค้าข้าวอาจมีราคาไม่สูงมาก แต่หากเป็นสินค้าอาหารทะเล อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ ซึ่งมีราคาแพงความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่าเราเยอะ"
นายสุเมธกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นแม้ต้นทางบริษัทได้ป้องกัน โดยแพ็กข้าวตามจำนวน และซีลตู้คอนเทนเนอร์ดีทุกอย่าง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันสินค้าสูญหายจากการถูกโจรกรรมระหว่างทางได้ จึงอยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ช่วยสอดส่องดูแลและปราบปรามอย่างเร่งด่วน
เจียเม้งโชว์คดีจับได้
ด้านนางโสพรรณ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทเคยถูกโจรกรรมข้าวหอมมะลิหลายครั้ง ครั้งละเป็นตัน ซึ่งจากการติดตามตรวจสอบเป็นฝีมือของแก๊งคอนเทนเนอร์ โดยมีคนขับรถหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกับพวก ขโมยสินค้าออกจากตู้เพื่อนำไปขายต่อ เพราะข้าวหอมมะลิมีราคาดี ราคาขายปลีกตกกิโลกรัมละ 30-40 บาท ในบางกรณีได้ให้ลูกน้องติดตามความผิดปกติของคนขับรถ ทำให้พบการกระทำผิด และสามารถแจ้งตำรวจดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว บริษัทเจ้าของรถหัวลากได้แสดงความรับผิดชอบและชดเชยค่าเสียหาย
อุทัยฯร้องนับวันชุมกว่ายุง
ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานบริษัท อุทัย โปรดิวส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นอีกหนึ่งรายที่ประสบปัญหานี้ โดยแก๊งโจรกรรมกลุ่มนี้จะมีเป็นช่วง ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้าวราคาแพง หรือสภาพเศรษฐกิจไม่ดีแต่อย่างใด ส่วนมูลค่าความเสียหายแต่ละครั้งจะหายไป 2-3 ตัน จากน้ำหนักรวมประมาณ 21 ตัน คิดเป็น 10 % ซึ่งถือว่าเสียหายมาก ข้าวที่หายไปไม่รู้ว่าเกิดขึ้นระหว่างทางการขนส่งออกทางรถจากโกดังไปท่าเรือ หรือรถจอดอยู่ในลานก่อนที่จะขนขึ้นเรือ ซึ่งพวกนี้จะทำงานเป็นขบวนการ กว่าจะทราบว่าสินค้าไม่ครบก็ถึงปลายทางผู้รับเรียบร้อยแล้ว โดยทางคู่ค้าจะแจ้งมาให้ทราบ ซึ่งทางบริษัทเคยไปแจ้งเพื่อเคลมประกัน แต่บริษัทประกันก็ตั้งแง่ เพราะตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้ถูกงัดแงะ หรือเกิดความเสียหายอย่างใด
"หลังข้าวหาย บริษัทได้ป้องกันลูกค้าเสียความรู้สึก โดยไม่คิดเงินในส่วนที่สินค้าไม่ครบ จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้ เพราะอาจทำให้เสียลูกค้าไปเลย ปัจจุบันแก๊งมิจฉาชีพดังกล่าว ไม่เคยถูกจับได้เลย นับวันยิ่งกระทำการอุกอาจมากขึ้นเรื่อย ๆ"
แนะวิธีป้องกันได้ผล
ขณะที่นายสามารถ หวังวานิช ผู้จัดการฝ่ายเรือลำเลียงอาวุโส บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กล่าวว่า แก๊งตู้คอนเทนเนอร์กลุ่มนี้ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่หากมีจริง คนขับรถจะต้องรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการดังกล่าวนี้ ส่วนวิธีการแก้ปัญหาจะต้องติดตั้งระบบติดตามรถผ่านดาวเทียม(จีพีเอส) เพื่อจะได้ทราบตำแหน่งของรถ ว่าขับอยู่ในเส้นทางหรือไม่ หรือถ้าหากหยุดรถเป็นเวลานาน โดยอ้างว่ารถเสีย จะต้องสังเกตว่ารถที่เสียในเส้นทางหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ส่งออกควรติดระบบสัญญาณกันขโมยไว้ที่ประตูล็อกคอนเทนเนอร์ เหมือนกันขโมยรถยนต์ ซึ่ง 2 วิธีการดังกล่าวอย่างน้อยจะทำให้แก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้นำสินค้าออกไปได้ยากขึ้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |