นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เปิดเผยว่า จะเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธาน กขช.เรียกประชุมคณะกรรมการ ภายในวันที่ 10 มี.ค. นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ก่อนหน้านี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงสถานการณ์ความจุน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ว่า อยู่ที่ 65% ของความจุน้ำของเขื่อนโดยรวม ซึ่งเป็นระดับที่ลดต่ำ 5-6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดย กขช.จะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือและหามาตรการแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป
“เมื่อวันที่ 4 มี.ค. มีเกษตรกรนำตัวอย่างข้าวเปลือกมาให้ผมดู พบว่าเมล็ดข้าวลีบ สาเหตุเป็นเพราะข้าวไม่ได้รับน้ำเพียงพอ เราจึงต้องเร่งเข้าไปดูแลในเรื่องนี้" นายไตรรงค์ กล่าว
ส่วนกรณีที่น้ำในแม่น้ำโขงแห้งลงมาก เนื่องจากจีนกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนที่อยู่ต้นแม่น้ำโขงนั้น นายไตรรงค์ กล่าวว่า คงต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เจรจา แต่กรณีเกี่ยวกับเรื่องน้ำนั้นมีกฎหมายระหว่างประเทศดูแลอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าหากว่ากันตามกติกาขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แล้ว ทุกประเทศมีศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่ในทางปฏิบัติพบว่าแต่ละประเทศไม่มีความเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามวันที่ 6 มี.ค. 2553 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จะเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งตนจะส่งที่ปรึกษาเข้าร่วมหารือด้วย
สมาคมโรงสีแจงดูแลข้าวเปลือก700ตัน
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ข้าวของรัฐบาลที่อยู่ในการดูแลของโรงสีมีเพียง 700 ตัน เป็นข้าวจากโครงการตั้งโต๊ะรับซื้อเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนการตรวจสต็อกข้าวรัฐที่มีอยู่ 5.6 ล้านตันข้าวสาร ทั้งหมดอยู่ในคลังกลางของรัฐหรือเป็นคลังที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เช่าจากเอกชนซึ่งบางส่วนอาจมีเจ้าของเป็นโรงสีแต่การดูแลข้าวดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับของ อคส.ทั้งหมด
ดังนั้น จึงไม่เชื่อว่าการตรวจสต็อกข้าวครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อหาตัวคนลักลอบนำข้าวไปขายช่วงราคาดี ไม่ส่งผลต่อระดับราคาข้าวปัจจุบัน แต่มองว่าเป็นการตรวจสต็อกเพื่อความแน่ใจว่าข้าวรัฐบาลอยู่ครบช่วงที่นายไตรรงค์ เข้ามารับผิดชอบงานด้านนี้มากกว่า โดยเห็นด้วยกับการตรวจสต็อกข้าวอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสมบัติของชาติที่ต้องกวดขันให้อยู่ครบจำนวนและคุณภาพ
“การตรวจสต็อกเป็นสิ่งที่ต้องทำ ผมยืนยัน และต้องทำบ่อยๆ แต่ข่าวการตรวจสต็อกคราวนี้น่าจะเข้าใจผิดมากกว่าว่าจะมาเช็คโรงสีว่าแอบนำข้าวรัฐไปขายหวังส่วนต่างกำไร ซึ่งความจริง ทำได้ยากมากเพราะข้าวไม่ได้อยู่กับเรา อยู่ในคลังกลางของรัฐทั้งนั้น การตรวจสต็อกมีการดำเนินการหลายส่วน ทั้งช่วงการขอแพ็คกิ้งเครดิตจากธนาคารเพื่อดำเนินการโครงการจัดเก็บข้าว และแผนการตรวจประจำเฉลี่ยเดือนละครั้ง รวมถึงการสุ่มตรวจที่รัฐดำเนินการอยู่แล้ว และข้าวที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาลเป็นข้าวสารทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับโรงสีแล้วแต่เมื่อเกิดข้อสงสัยใดๆ ขึ้นก็มักหาว่าโรงสีเป็นผู้ร้าย ส่วนที่ไม่ดีก็มีแต่ส่วนที่ดีก็มาก" นายชาญชัย กล่าว
สำหรับแผนการดูแลราคาข้าวผ่านการตั้งโต๊ะรับซื้อยอมรับว่า อาจไม่ราบรื่นเท่าที่ควร เพราะขณะนี้โรงสีขาดความมั่นใจในการดำเนินโครงการเพราะรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนการจัดการกับข้าวที่รับซื้อมา ทั้งที่โรงสีมีข้อจำกัดด้านสถานที่เก็บ ซึ่งสมาคมฯได้เสนอแนวทางดำเนินการให้กรมการค้าภายในส่งต่อให้คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาแล้ว
โรงสีไม่เชื่อขนข้าวขายช่วงราคาดี
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าการที่รัฐออกมาระบุว่าจะตรวจสต็อกข้าวรัฐเนื่องจากสงสัยว่า มีผู้ลักลอบนำข้าวไปขายในช่วงข้าวราคาดี น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะข้าวรัฐส่วนใหญ่อยู่ในโกดังกลางและข้าวทั้งหมด 5.6 ล้านตัน เป็นข้าวสารที่ยากต่อการลักลอบนำไปจำหน่าย เนื่องจากการนำข้าวใหม่หรือข้าวชนิดอื่นไปเก็บไว้ในโกดังแทน สามารถตรวจพบความผิดปกติได้โดยง่าย เพราะลักษณะข้าวจะต่างกันค่อนข้างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม มีโรงสีบางส่วนที่เปิดโกดังให้รัฐบาลเช่าเพื่อฝากเก็บข้าว ส่วนนี้ก็ไม่น่าจะมีพฤติกรรมดังกล่าวด้วยเหตุผลข้างต้น ดังนั้นการออกมาให้ข่าวว่าจะตรวจสต็อกข้าวรัฐ จึงไม่น่าจะเกิดประโยชน์ในแง่การดูแลราคาข้าวที่กำลังตกต่ำขณะนี้ โดยรัฐหวังว่าโรงสีที่นำข้าวรัฐไปขายจะเร่งซื้อข้าวจากตลาดไปเติมเต็มเป็นการดึงซัพพลายออกจากตลาดได้บางส่วนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก
หนุนรัฐดันราคาข้าวสูงเป็นเรื่องดี
ทั้งนี้ การดูแลราคาข้าวให้ปรับตัวสูงขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับระบบให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากโครงการดูแลสินค้าเกษตรปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายประกันรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องของการดูแลรายได้ไม่ใช่การผลักดันราคาให้สูงขึ้น ผิดกับโครงการรับจำนำ ปัญหาความไม่เข้าใจระบบประกันรายได้ของชาวนาเป็นสาเหตุให้เกิดการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ
สำหรับราคาข้าวล่าสุดวานนี้ (5 มี.ค.) สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า ข้าวเปลือกขาว 5%ที่จังหวัดปทุมธานี (ความชื้น 15%) ตันละ 9,000 บาท ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตันละ 9,100-9,200 บาท จังหวัดพิจิตร ความชื้น 15% ตันละ 8,800 ความชื้น 25-30% ตันละ 7,400 บาท ข้าว 100% ความชื้น 15% ตันละ 9,700 บาท
เล็งถกคลัง-เกษตรฯปรับราคาประกัน
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาความเป็นไปได้ เพื่อประเมินต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังใหม่ รวมถึงความเสียหายจากภัยแล้งและเพลี้ยกระโดด หลังจากกลุ่มชาวนาเรียกร้องขอปรับขึ้นราคาประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในการปลูกข้าวนาปรังในปีนี้จากตันละ 10,000 บาท เป็น 12,000 บาท ก่อนเสนอนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ต่อไป
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะปรับขึ้นราคาประกันรายได้ เพราะขณะนี้ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งกว่าตันละ 100 ดอลลาร์ ทำให้คำสั่งซื้อและการขยายตลาดทำได้ยาก พร้อมแนะนำรัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยเร่งทำความเข้าใจกับชาวนา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|