แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงภาวะราคาข้าวเหนียวว่าได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเดือนมีนาคมอยู่ที่กก.ละ 19-20 บาท ปัจจุบันอยู่ที่กก.ละ 24-25 บาท เท่ากับว่าช่วงเวลาเพียงเดือนเศษราคาข้าวเหนียวขึ้นมาที่กก.ละ 5 บาท และเป็นราคาเกือบจะใกล้เคียงปี 2550 ซึ่งอยู่ที่กก.ละ 25-26 บาท บางช่วงเวลาขึ้นไปถึงกก.ละ 30 บาท นับเป็นปีที่ข้าวเหนียวแพงเป็นประวัติการณ์ และปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ราคาข้าวเหนียวจะทุบสถิติปี 2550
สำหรับสาเหตุที่ราคาข้าวเหนียวแพงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากรัฐบาลตั้งราคาประกันรายได้เกษตรกรสำหรับข้าวเหนียวไว้เพียงตันละ 9,500 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ข้าวหอมปทุมธานีตันละ 10,000 บาท (ต่อมาปรับเพิ่มเป็นตันละ 11,000 บาท) และข้าวหอมมะลิตันละ 15,300 บาท จึงทำให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวชนิดอื่นมากขึ้น ลดการปลูกข้าวเหนียวลงจนทำให้ผลผลิตข้าวเหนียวลดลง
"ผลผลิตข้าวเหนียวมีพื้นที่ปลูกไม่มากส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ มีส่งออกต่างประเทศบ้างแต่ไม่มาก หากมีปัจจัยบวกหรือลบที่กระทบตลาดเพียงเล็กน้อย จะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาทันที สำหรับปีนี้การที่ผลผลิตมีน้อยมีแนวโน้มว่าราคาจะขึ้นไปอีกและมีความเป็นไปได้ที่จะสูงกว่าปี 2550 เพราะปกติแล้วช่วงเวลาที่ข้าวเหนียวขึ้นสูงจะประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม แต่ปีนี้เดือนพฤษภาคมราคาขึ้นแล้ว" แหล่งข่าวกล่าวและว่า
ขณะนี้ได้มีกลุ่มผู้ส่งออกข้าวและผู้ประกอบการโรงสีบางโรง วิ่งล็อบบี้กระทรวงพาณิชย์ให้ระบายข้าวเหนียวออกจากสต๊อก โดยเวลานี้รัฐบาลมีสต๊อกข้าวเหนียวอยู่ประมาณ 130,000 ตัน ซึ่งผู้ส่งออกและโรงสีกลุ่มนี้ได้ยื่นข้อเสนอราคาที่ควรระบายเพียงตันละ 16,000 บาท และยินดีที่จะจ่ายเงินพิเศษให้ตันละ 2,000 บาท นอกจากนี้ยังได้เสนอให้ระบายข้าวหอมปทุมธานีออกมาจำนวนหนึ่งด้วย โดยให้เหตุผลว่าเวลานี้ชนิดข้าวที่เหมาะสมที่รัฐบาลควรระบายออกได้มีเพียงข้าวเหนียวกับข้าวหอมปทุมธานีเท่านั้น เพราะข้าวชนิดอื่นตลาดต้องการน้อยและราคาค่อนข้างต่ำ
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าสำหรับข้าวหอมปทุมธานีนั้น กลุ่มผู้ส่งออกและโรงสีเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ระบายออกตันละไม่ถึง 20,000 บาท เนื่องจากราคาตลาดขณะนี้อยู่ที่ตันละ 21,000 บาท แต่ข้าวของรัฐบาลเป็นข้าวเกรดคละกัน ราคาจึงควรจะต่ำกว่าตลาดตันละประมาณ 3,000 บาท หรือเสนอขอซื้อที่ตันละ 18,000 บาทเท่านั้น
"การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ส่งออกและโรงสีข้าวดังกล่าว ทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในวงการค้าข้าวเหนียวอย่างมาก เพราะข้าวเหนียวหากราคาขึ้นแล้วไม่ต่างจากทองคำซึ่งจะแพงมาก แต่ถ้าราคาลงจะลงต่ำสุดๆ จึงทำให้ผู้ค้าข้าวเหนียวไม่กล้าที่จะซื้อจะขาย ขณะที่ข้าวเปลือกเหนียวที่อยู่ในมือชาวนายังมีจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากรัฐบาลไม่ปล่อยออกมาชาวนากลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากราคาข้าวเหนียวที่สูงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการระบายสต๊อกข้าวเหนียวจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวังให้มากที่สุด ช่วงเดือนมกราคมนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศว่าจะระบายข้าวเหนียว 75,000 ตันราคาตกลงเหลือกก.ละ 19-20 บาท จากที่เคยขึ้นไปถึงกก.ละ 24 บาทช่วงเดือนธันวาคม"
ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากพ่อค้าให้พิจารณาระบายสต๊อกข้าวเหนียวและข้าวหอมปทุมธานี และยังไม่มีแผนที่จะระบายแต่ถ้าช่วงนี้ข้าวเหนียวราคาสูง และมีแนวโน้มที่จะขาดตลาด จะนำเรื่องนี้หารือกับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจะต้องดูสัญญาณจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ด้วยว่าจะเห็นชอบให้มีการระบายหรือไม่ ทั้งนี้การระบายข้าวต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม และไม่กระทบต่อราคาข้าวในตลาด
อนึ่ง ปี 2550 ราคาข้าวเหนียวพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ บางช่วงเวลาขึ้นถึงตันละ 30,000 บาท และแพงกว่าข้าวหอมมะลิในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งที่ภาวะปกติราคาข้าวเหนียวจะแพงกว่าข้าวขาวแต่ถูกกว่าข้าวหอมมะลิ เหตุที่ข้าวเหนียวปี 2550 แพงเพราะจีนได้เข้ามากว้านซื้อเพื่อไปแปรรูปรองรับปี 2551 ที่จีนเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|