นายมิเกล ลิมา ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ซีไรซ์ แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการส่งออกข้าว กล่าวผ่านสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส ว่า รัฐบาลบางประเทศในเอเชียกำลังพิจารณาปรับขึ้นราคาข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เช่น ในประเทศไทย ซึ่งประชากร 80% ทำงานในภาคการเกษตรและเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง โดยเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ คือ ต่างชาติเลื่อนเวลาซื้อเนื่องจากหวังว่าราคาจะปรับตัวลง
นายลิมา ซึ่งอยู่ในธุรกิจค้าข้าวในแอฟริกามานาน 25 ปี เตือนว่า ประเทศผู้ผลิตข้าวหลงลืมประเทศในแอฟริกาที่เป็นผู้ซื้อรายสำคัญ ประชาชนในประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีเงินใช้จ่ายมากนัก พวกเขาอาจเลิกรับประทานข้าวหากราคาแพงเกินไป และขณะนี้เริ่มมีการรับประทานอาหารชนิดอื่นแทนบ้างแล้ว เช่น มันสำปะหลัง ลูกเดือย และอาจจะไม่หวนกลับไปรับประทานข้าวอีก เพราะลูกเดือยมีราคาถูกกว่ามาก
นายโมเสส อาเดวูยี เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบทของไนจีเรีย เห็นพ้องกับนายลิมา และเตือนว่า หากราคาข้าวแพงมากเหมือนในปี 2550 และ 2551 ผู้บริโภคชาวไนจีเรียอาจเลือกรับประทานอาหารชนิดอื่นแทน เช่น ข้าวโพด ลูกเดือย มันสำปะหลัง ถั่ว มันเทศ และกล้วย ซึ่งไนจีเรียและประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา มีอาหารเหล่านี้จำนวนมากขณะที่รัฐบาลไนจีเรียต้องการเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพของโรงสีข้าวให้ดีขึ้น ซึ่งเขาเห็นว่าประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาที่ปลูกข้าวได้ ก็ควรพัฒนาเรื่องนี้เช่นกัน
นายอาเดวูยี กล่าวว่า ราคาข้าวปรับตัวลงเมื่อปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินซื้อข้าวในราคาประมาณ 450 ดอลลาร์ต่อ 50 กิโลกรัม ส่วนเมื่อปี 2550-2551 ราคาข้าวพุ่งขึ้นอยู่ที่ 900 ดอลลาร์ ซึ่งหากราคาข้าวไทยแพงมากเกินไป ก็จะต้องลดการพึ่งพาข้าวจากตะวันออกไกล
ทั้งนี้ ข้อมูลของรัฐบาลไทยระบุว่า ประเทศในแอฟริกาซื้อข้าวจากไทย 1.4 ล้านตันในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ขณะที่ยอดซื้อช่วงเดียวกันในปีที่แล้วมีระดับเกือบ 2 ล้านตัน
ส่วนข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ชี้ว่า ราคาข้าวโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 217% ระหว่างปี 2549-2551 โดยราคาพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,038 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนพ.ค.2551
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |