www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

เตือนไทยพ่ายเวียดนามสูญตลาดข้าว


นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ตลาดข้าวในอาเซียนที่มีผู้ส่งออกรายใหญ่คือไทย กับเวียดนามครองตลาดอยู่ถึง 95% ในขณะนี้พบว่าการแข่งขันของทั้ง 2 ประเทศเริ่มรุนแรงมากขึ้น โดยไทยจากที่เคยครองสัดส่วนการตลาดมากที่สุดได้ปรับตัวลดลงกลายเป็นรองเวียดนามนับตั้งแต่ปี 2547 ที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออก 49.5% ลดลง เหลือ 39.6% ในปี 2551

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มเวียดนาม จะครอบครองตลาดข้าวในอาเซียน ซึ่งใน 10 ข้างหน้า จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นถึง 12% ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลง 10%

นอกจากนี้ จากศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของเวียดนาม ยังจะส่งผลให้การส่งออกในตลาดโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้านตันจากปีนี้ 6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25% ต่างกับไทยที่คาดว่าจะส่งออกลดลงเหลือ 8.6 ล้านตัน จาก 10 ล้านตัน หรือลดลง 14% ดังนั้นแม้ว่าใน 10 ปีข้างหน้าไทยจะยังเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่การแข่งขันของไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

ชี้10ปมข้าวไทยแข่งเวียดนามไม่ได้

ผลการวิจัย พบว่า มี 10 ประเด็นที่ทำให้ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ คือ 1.เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่า โดยจากผลผลิตต่อไร่ของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 680 กิโลกรัมต่อไร่ เวียดนามผลิตได้ 862 กิโลกรัมต่อไร่ ไทยมีผลผลิต 448 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นอันดับที่ 13 ของเอเชีย และอันดับ 7 ของอาเซียน

2. เวียดนามมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยถึง 16% ในส่วนของเมล็ดพันธุ์และค่าแรง ค่าเครื่องจักร ทำให้เกษตรกรมีกำไรสูงกว่าไทยถึง 3 เท่า หรือแต่ละรอบประมาณ 67.1%

3.รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรให้ลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่การผลิต วิธีการนี้จะส่งผลให้เกษตรกรของเวียดนาม มีกำไรเพิ่มขึ้นในการปลูกข้าวแต่ละรอบถึง 72.5% หรือประมาณ 3.6 เท่า

4.รัฐบาลเวียดนามได้ให้การอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อวัตถุดิบ เครื่องมืออุปกรณ์ และตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตและการส่งออกข้าว

5.นโยบายช่วยให้เกษตรกรมีกำไรอย่างน้อย 30% กำหนดราคาขายข้าวเปลือกให้แก่พ่อค้าคนกลาง ขณะที่บริษัทผู้ส่งออกต้องมีแผนการเชื่อมโยงกับพ่อค้าคนกลาง

ใช้กลยุทธ์การตลาดทีมเดียว

6.ในด้านการตลาดเวียดนามใช้กลยุทธ์แบบทีมเดียวโดยมีเพียง 2 บริษัทที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ คือ Vinafood 1 และ Vinafood 2 เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่หาตลาดข้าวในต่างประเทศ หลังจากนั้นจะนำมากระจายให้แก่ผู้ส่งออกในประเทศ โรงสี และเกษตรกรที่ต้องมีกำไรอย่างน้อย 30% วิธีการนี้เวียดนามได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการรุกตลาดข้าวคุณภาพ ที่ไทยเริ่มเสียตลาดไปแล้วในฮ่องกง ออสเตรเลียและไต้หวัน

7.กลยุทธ์ของเวียดนามในด้านราคายังส่งออกข้าวถูกกว่าไทย โดยในปี 2552 ราคาข้าวสาร 5% ของเวียดนามถูกกว่าไทยถึง 123 ดอลลาร์ต่อตัน จากที่ปี 2548 มีราคาต่ำกว่าไทยเพียง 30 ดอลลาร์ต่อตัน ในขณะที่ข้าวสาร 25% ในปี 2551-2552 เวียดนามขายต่ำกว่าไทย 50-76 ดอลลาร์ จากต่ำกว่าไทยเพียง 5-11 ดอลลาร์ เท่านั้น

8.ราคาที่ต่ำกว่าไทยมากทำให้เวียดนาม มีแผนแย่งตลาดข้าวของไทยในอาเซียนสำเร็จ โดย ตลาดฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบันเวียดนามส่งออกมากกว่าไทยถึง 23 เท่า

เวียดนามดึงเขมร-พม่าพันธมิตร

9.เวียดนามใช้วิธีการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการผลิตข้าวและส่งกลับเข้าไปในประเทศ ทำให้ในแต่ละปีเวียดนามมีตัวเลขการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยในขณะนี้ได้เวียดนามและกัมพูชาได้ตั้งบริษัทร่วมทุน ทำธุรกิจข้าวแบบครบวงจรในกัมพูชา ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับพม่าในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนอาหารในอนาคตด้วย

10.รัฐบาลเวียดนามมีการจัดตั้งตลาดค้าข้าวและคลังสินค้าในตลาดต่างประเทศ โดยได้ร่วมมือเพื่อตั้งคลังสินค้าในฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย กานา แอฟริกาใต้ และ พม่า

แนะปรับตัว5ด้านปรับการผลิต-ตลาด

นายอัทธ์ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ประเมินทางรอดของไทยเพื่อการแข่งขันในตลาดอาเซียน จะต้องมีการปรับตัว 5 ด้าน คือ 1.ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น 2.หาแนวทางการทำตลาดทั้งในและนอกอาเซียน โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน ต้องพิจารณาว่าควรจะรุกตลาดข้าวคุณภาพต่ำมากขึ้นหรือไม่ หรือทิ้งตลาดข้าวคุณภาพต่ำเพื่อพัฒนาตลาดบนที่ทำได้ยาก และปัจจุบันเวียดนามเริ่มวางจำหน่ายข้าวพรีเมียม ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทยแล้ว

3.ต้องสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร โรงสีและผู้ส่งออกให้มีความเข้าใจในตลาดอาเซียนมากกว่าปัจจุบัน 4.การทำตลาดเป็นทีมเดียว และ 5.รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายรุกตลาดแต่ละแห่ง

สำหรับเป้าหมายที่ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวในอาเซียนนั้น โดยศักยภาพและทำเลที่ตั้งของไทยมีความเหมาะสม แต่ไทยต้องแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวปลอมปนซึ่งส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของข้าวไทย

ผู้ส่งออกอัดรัฐแทรกแซงทำตลาดพัง

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งออกข้าวของไทยเป็นลักษณะการค้าเสรี ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันซึ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่การส่งออกของไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าข้าวไทยมีต้นทุนสูงมาก เนื่องจากราคาในประเทศแพง จากนโยบายการอุดหนุน ราคาข้าวของภาครัฐ ทำให้การเสนอราคาขายยากโดยเฉพาะข้าวคุณภาพต่ำ

ขณะที่เวียดนามมีกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดอาเซียนมากขึ้น ทั้งรัฐที่ให้การสนับสนุนเกษตรกร ผู้ส่งออก มีการพัฒนาพันธุ์ ระบบชลประทาน และเกษตรกรเอาใจใส่ดูแลมากขึ้นส่งผลให้ต้นทุนข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทยมาก ประกอบกับเวียดนามมีการปรับลดค่าเงินด่องอยู่หลายครั้งทำให้ ผู้ส่งออกเสนอราคาขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าไทยมาก

“รัฐบาลต้องมีนโยบายข้าวที่ชัดเจน ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รักษาคุณภาพข้าวและพัฒนาระบบชลประทาน ลดความเสี่ยงเรื่องโรคแมลง”

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.