www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

มะกันผลิตข้าวหอมพันธุ์ใหม่ผลผลิตสูง 1,239 กก.ต่อไร่


กระทรวงพาณิชย์ และผู้ส่งออกข้าวไทย แสดงความมั่นใจว่าในปี 2553 นี้ประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านตัน  ส่วนในปี 2554 แม้จะมีความท้าทายมากมายโดยเฉพาะการแข่งขันจากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นที่มาแรง  แต่ก็ยังตั้งเป้าการส่งออกไว้สูงกว่าปีนี้ในระดับ 9-10 ล้านตัน  อย่างไรก็ตามอุปสรรคใหม่ที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นเมื่อสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยปีละ 4 แสนตัน  ได้ปรากฏข้าวหอมมะลิสัญชาติอเมริกันขึ้นมาเป็นคู่แข่งใหม่

สหรัฐผลิตข้าวหอม "JES"
     
แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าเมื่อเร็วๆนี้กรมได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ว่า   ปัจจุบันสหรัฐฯได้พัฒนาข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ล่าสุดชื่อ JES (Jasmine Early Short) เพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงแข่งขันกับข้าวพันธุ์ Jazzman ซึ่งเป็นข้าวหอมของรัฐหลุยเซียนาที่ออกมาก่อนหน้านี้
     
สำหรับข้าวพันธุ์ JES นี้พัฒนาขึ้นโดยศ.คริสโตเฟอร์ เดเรน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าว แห่งมหาวิทยาลัยอาร์คันซอส์ ร่วมกับนายอาร์.เอ็น.รูทเกอร์ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าว กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) โดยข้าวพันธุ์ JES มีปริมาณผลผลิตประมาณ 940 ตันในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2553 หรือให้ผลผลิตสูงถึง 1,239 กิโลกรัม/ไร่ เทียบกับข้าวหอมมะลิไทยให้ผลผลิตเฉลี่ย 363 กิโลกรัม/ไร่   ปัจจุบันข้าวหอมพันธุ์ JES มีวางจำหน่ายตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไปในสหรัฐฯ  จัดจำหน่ายโดยบริษัท ไรซ์แลนด์ ฟู้ดส์ อิงค์ ภายใต้แบรนด์ American Jazmine

ได้เปรียบขนส่ง-ผลผลิตต่อไร่
     
ทั้งนี้ศ. เดเรน เคยแจ้งข้อมูลไว้ว่า ข้าวหอมพันธุ์ JES ของรัฐอาร์คันซอส์ (เป็นรัฐที่ปลูกและผลิตข้าวได้มากที่สุดของสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วน 41% ของผลผลิตรวม) มีคุณสมบัติด้านความหอม ความนุ่ม และความเหนียวเหนือกว่าข้าวหอมพันธุ์ Jazzman ของรัฐหลุยเซียนา แต่ด้อยกว่าในด้านผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่า (ข้าว Jazzman ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,248 กิโลกรัม/ไร่) อย่างไรก็ตามศ.เดเรนยอมรับว่าข้าวพันธุ์ JES ยังไม่ได้มาตรฐานทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทยทั้งในด้านความเหนียว ความนุ่ม และกลิ่นหอม
     
แหล่งข่าวกล่าวว่าข้าวพันธุ์ JES ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย และข้าวพันธุ์ Jazzman จากรัฐหลุยเซียนาของสหรัฐฯด้วยกันเอง เวลานี้แม้ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยังไม่สูงมาก แต่อนาคตอาจเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดสหรัฐฯในอนาคต เพราะเขาได้เปรียบเรื่องต้นทุนการขนส่ง รวมถึงการทำตลาด
     
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้พัฒนาข้าวพันธุ์ Jazzman มีคุณสมบัติทางเคมีกายภาพคล้ายคลึงหรือทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งเป็นข่าวที่สร้างความสนใจให้วงการข้าวหอมมะลิไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันข้าว Jazzman มีวางจำหน่ายในตลาดค้าปลีกในรัฐหลุยเซียนา และรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐฯ เช่น มิสซิสซิปปี และเท็กซัส โดยข้าว Jazzman ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่มีการคิดค้นดัดแปลงสูตรอาหารต่างๆ มีความได้เปรียบข้าวหอมมะลิไทยเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าขนส่งไกล และเป็นข้าวที่ผลิตได้ในท้องถิ่น
     
พาณิชย์สั่งจับตาใกล้ชิด
     
ด้านนางปราณี  ศิริพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทราบข้อมูลของข้าวหอมพันธุ์ JES บ้างแล้ว ซึ่งกรมจะได้ติดตามต่อไปว่า ข้าวJES จะสามารถขยายตลาดเชิงการค้าได้มากน้อยเพียงใด แต่แน่นอนว่าข้าวหอมพันธุ์นี้ มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศของสหรัฐฯเป็นหลัก เมื่อขยายตลาดได้มากขึ้นก็จะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น
     
อย่างไรก็ดีเพื่อรักษาฐานตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯ  ซึ่งในช่วงหลังมักได้รับการร้องเรียนว่ามีปัญหาการปลอมปนทำให้เสียชื่อเสียง  กระทรวงพาณิชย์จะหาทางปรับปรุงมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยเพื่อการส่งออกใหม่ จากเดิมกำหนดไว้มาตรฐานเดียวคือ ข้าวหอมมะลิเกรดพรีเมียม 92% (ข้าวหอมมะลิ92 ส่วน ผสมข้าวชนิดอื่นได้ 8 ส่วน)โดยในส่วนของมาตรฐาน 92% จะยังคงไว้ แต่จะเพิ่มมาตรฐานในเกรดรองลงไป เช่น ข้าวหอมมะลิ 80 , 70 หรือ 60% โดยระบุให้ชัดเจนที่บรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภคในสหรัฐฯ รวมถึงตลาดอื่นๆ ให้มากขึ้น คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จในต้นปีหน้า
     
ผู้ส่งออกชี้มีสิทธิ์เบียดตลาด
     
นายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่สหรัฐฯออกข้าวหอมพันธุ์ใหม่ ซึ่งผลกระทบคงต้องติดตามอีกสักระยะ อย่างไรก็ดีในส่วนของข้าวหอมพันธุ์ Jazzman ของสหรัฐฯที่ออกมาก่อนหน้านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐฯมากนัก เพราะเทียบชั้นกันแล้วชาวอเมริกันยังให้ความนิยมข้าวหอมมะลิไทยมากกว่า แต่หากในอนาคตข้าวหอมมะลิของไทยมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามก็มีโอกาสที่ข้าวไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับข้าวหอมที่ผลิตในท้องถิ่นของสหรัฐฯได้ เพราะเวลานี้ข้าวหอมมะลิไทยก็เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่ข้าวหอมเวียดนามที่ผลิตในกัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ
     
"ถ้าราคาข้าวหอมมะลิไทยไม่สูงมากเราก็คงรักษาตลาดได้ แต่หากขยับขึ้นไปสูงถึง 1,300-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันก็อาจมีปัญหาได้"นายชูเกียรติกล่าว
     
ซี.พี.เตรียมตรวจสอบ
     
ด้านบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่  นายสุเมธ  เหล่าโมราพร ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวถึงข้าวหอมพันธุ์ JES ของสหรัฐฯ ว่า ยังไม่ทราบข่าว แต่จะให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทหาตัวอย่างมาตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อเปรียบเทียบดูความเหมือนหรือแตกต่างจากข้าวหอมมะลิของไทย   แต่ที่ผ่านมาในส่วนของข้าว Jazzman ที่ทางบริษัทได้นำตัวอย่างข้าวมาตรวจสอบดูก็ไม่ได้เหนือกว่าข้าวไทยตามที่โฆษณา
     
นายสุเมธกล่าวเพิ่มเติมว่าปีหน้ามีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NBT)ที่อาจกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยได้คือ "สหภาพยุโรป"  ที่ได้กำหนดสัดส่วนสารเคมีตกค้างในข้าว  ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบเพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณสารตกค้างสูงสุด (MRL)ของสารพิริมิฟอส-เมทิล (Pirimiphos-methyl) ในสินค้าข้าวจากทั่วโลกที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป  จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็น 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งเวียนเอกสาร ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ต่อองค์การการค้าโลก(WTO) เพื่อขอความเห็นจากประเทศสมาชิกเกี่ยวกับร่างประกาศแก้ไข ของสารเคมี 7 รายการ ครอบคลุมสินค้าธัญพืช เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ และพืช/ผัก และผลิตภัณฑ์ ซึ่งประเทศสมาชิกสามารถให้ความเห็นได้ถึงวันที่ 28 ธันวาคมนี้

พิริมิฟอส-เมทิล
     
สำหรับสารพิริมิฟอส-เมทิล จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพ โดยการหายใจนำสารนี้เข้าไปจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุเมือก และทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เซื่องซึม สับสน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เป็นไข้ สูญเสียการควบคุม และอาจหมดสติได้ ส่วนการสัมผัสถูกผิวหนังจะก่อให้เกิดการระคายเคือง การสัมผัสถูกตาจะก่อให้เกิดการะคายเคือง ตาแดง เจ็บตา ตาพร่ามัว เป็นต้น
     
แหล่งข่าวใน อย.กล่าวว่า สารดังกล่าวส่วนใหญ่จะใช้ในขั้นตอนของโรงสี เพื่อใช้ในการฆ่ามอดและแมลงในกระสอบข้าว ซึ่งทางผู้ส่งออกข้าวมองว่าการกำหนดปริมาณสารตกค้างสูงสุดไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เข้มงวดเกินไป เพราะมาตรฐานไทยกำหนดไว้ที่ 7 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตามมาตรฐานโคเด็กซ์ (มาตรฐานขององค์การการค้าโลก) ขณะที่ห้องปฏิบัติการของรัฐและเอกชนไทยสามารถตรวจความละเอียดสูงสุดได้เพียง 0.12-0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัมเท่านั้น   ซึ่งการบังคับปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ต่ำมากผู้ประกอบการไทยคงต้องส่งตัวอย่างไปตรวจสอบในอียูทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
     
เรื่องดังกล่าวทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)ได้ขอความเห็นมายังผู้ส่งออกข้าวโดยให้สรุปในวันที่ 17 ธันวาคมศกนี้  ขณะเดียวกันทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้สรุปความเห็น และได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าต่างประเทศแล้ว เพื่อดำเนินการโต้แย้งต่ออียูต่อไป (ปี 2552 ไทยส่งออกข้าวไปอียู 454,705 ตัน)
     
ปี 54 ดีแต่อย่าประมาท

การส่งออกข้าวไทยในปี 2553 มีการคาดหมายว่าจะส่งออกได้ 8.5-8.7 ล้านตัน ส่วนในปี 2554 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกที่ 9 ล้านตันนั้น  ผู้บริหารของซี.พี.อินเตอร์เทรด มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุป แต่เชื่อว่าการส่งออกในปีหน้าน่าจะมากกว่าปีนี้ โดยมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญคือ ภัยธรรมชาติ และภาวะอากาศของประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่เป็นคู่แข่งขันของไทย เพราะจะมีผลต่อผลผลิตข้าวในภาพรวมของโลกว่าจะมีมากน้อยเพียงใด และประเทศใดจะส่งออกหรืองดส่งออกอย่างไร ขณะที่จากนี้ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า ต้องจับดูผลผลิตข้าวของประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม อย่างไรก็ดีถือเป็นข่าวดีที่มีข่าวว่าอินโดนีเซียจะซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.