นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ไทยได้เจรจารัฐบาลฟิลิปปินส์ขอให้ชดเชย กรณีที่ไม่ยอมลดภาษีนำเข้าข้าวตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) นั้น ความคืบหน้าล่าสุดการเจรจาได้ข้อสรุปแล้ว โดยทางฟิลิปปินส์ยอมให้โควตานำเข้าข้าวจากไทย โดยปราศจากภาษีปริมาณ 3.7 แสนตันตามที่ไทยร้องขอ ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขเนื้อหาในร่างข้อตกลง (TEXT) เมื่อแล้วเสร็จ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ขณะนี้ ฟิลิปปินส์ยังเรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวจากไทย ในอัตราสูงถึง 40% ซึ่งปริมาณโควตาที่ไทยเรียกร้องจากฟิลิปปินส์ นั้น มาจากการคำนวณปริมาณส่งออกไปตลาดฟิลิปปินส์ย้อนหลัง 3 ปี
ส่วนประเด็นที่ฟิลิปปินส์ได้ขอบรรจุให้สินค้าน้ำตาลทราย เป็นกลุ่มสินค้าไม่ลดภาษีนั้น ไทยอาจยอมตามข้อเสนอของฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์ได้ยื่นข้อเสนอการลดภาษีน้ำตาลทรายภายใต้อาฟตา มาให้ไทยพิจารณาแล้ว โดยเสนอลดภาษีน้ำตาลเป็นขั้นบันได ปี 2009-2011 จะลดภาษีเหลือ 38% ปี 2012 ลดเหลือ 28% ปี 2013 ลดเหลือ 18% ปี 2014 ลดเหลือ 10% และปี 2015 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย จะลดเหลือ 5%จากที่ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์มีท่าทีที่จะไม่ยอมลดภาษีน้ำตาลทราย
นางพรทิวา กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าว ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ว่า ได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าข้าว มารับฟังเงื่อนไขนำเข้า พร้อมข้อเสนอแนะการออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อดูแลการนำเข้าข้าว ซึ่งยอมรับว่า ประชาชนมีความกังวลในเรื่องของการนำเข้าสินค้าภายใต้กรอบอาฟตาที่ภาษีเหลือ 0% จึงกำหนดมาตรการในการกำกับดูแล ขั้นตอนจากนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาหากได้รับความเห็นชอบเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ปี 2553 ภาษีนำเข้าข้าวอัตรา 0% โดยไม่มีโควตา ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการ ได้แก่ กำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า โดยกรมการค้าต่างประเทศออกประกาศกำหนด ผู้นำเข้าต้องมีคุณสมบัติ/เอกสาร ประกอบดังนี้ สำเนาใบรับรองมาตรฐาน/สุขอนามัย/อื่นๆ จากประเทศต้นทาง สำเนาใบรับรองสุขอนามัยพืช สำเนาในรับรองปลอด GMOs ใบรับรองมาตรฐานสินค้านำเข้า-มาตรฐานอื่นๆ เพิ่มเติม
สำเนาหนังสือรับรองเเหล่งกำเนิดสินค้า Form D ระบุชนิดข้าวและปริมาณที่จะนำเข้า กำหนดด่านนำเข้า ให้นำเข้าเฉพาะด่านที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจพืชประจำอยู่ ติดตามการใช้ข้าวนำเข้า เก็บค่าธรรมเนียมการตรวจสินค้าข้าวนำเข้า เพื่อเป็นกองทุนพัฒนาชาวนา ด้านระบบติดตามการนำเข้า วางระบบติดตามสถิติการนำเข้าเป็นรายสัปดาห์ โดยประสานขอความร่วมมือจากกรมศุลกากร
การวางระบบติดตามข้อมูลการออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้า ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายสัปดาห์ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเฝ้าระวังการนำเข้าและวางมาตรการรองรับ
ด้านการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล ให้เจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่เป้าหมายเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้ มีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมดูแลด้วยได้แก่ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร กรมศุลกากร เป็นต้น และกำหนดช่วงเวลานำเข้าตามช่วงที่ฤดูกาลผลิตออกสู่ตลาด เป็น 2 ช่วง ได้แก่ เดือนพ.ค.-ก.ค. และ เดือนส.ค. -ต.ค.
ขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศ ยังเตรียมเปิดสายด่วนอาฟตา 1385 เพื่อรับข้อร้องเรียนปัญหาต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีดังกล่าว ซึ่งจะมีการติดตามผล เพื่อรายงานสถิติทุกวัน อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีอาฟตาไทยน่าจะได้รับประโยชน์มากกว่า เนื่องจากมีตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |