www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ชาวนาโอดถูกกดราคาข้าวเปลือก


นายสมาน ทัดเที่ยง ประธานสมาพันธ์เครือข่ายลุ่มน้ำกวง เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวนาในจังหวัดเชียงใหม่ กำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปี ที่ได้เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนส.ค. เป็นต้นมาอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 พ.ย. เป็นต้นมา แต่ปรากฏว่าโรงสีและผู้ประกอบการซื้อข้าวเปลือกประจำแต่ละอำเภอ ที่เข้าร่วมโครงการประกันราคาของรัฐบาล ไม่ทำตามนโยบายรัฐ

ทั้งนี้ ได้กดราคารับซื้อข้าวเปลือก โดยข้าวเปลือกเหนียวเหลืองรับซื้อในราคาเพียงกิโลกรัมละ 8.20-8.50 บาท ขณะที่ราคาประกันของรัฐบาลอ้างอิงถึงวันที่ 10 ธ.ค. ราคาตันละ 1.6 หมื่นบาท หรือกิโลกรัมละ 16 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกหอมมะลิ รับซื้อในราคากิโลกรัมละเพียง 10.50 บาท ราคาประกันของรัฐบาลอ้างอิงถึงวันที่ 10 ธ.ค. รับซื้อราคาตันละ 1.3 หมื่นบาท หรือกิโลกรัมละ 13 บาท ข้าวเปลือกชนิดอื่นๆ รับซื้อในราคากิโลกรัมละเพียง 6-7 บาทเท่านั้นจากราคาประกันของรัฐบาลตันละ 8,000 บาท

นอกจากนี้ การรับซื้อข้าวยังไม่ได้รับสนใจเรื่องนโยบายการวัดความชื้นที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ว่าหากความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวเปลือกหอมมะลิให้รับซื้อในราคา 1.3 หมื่นบาท และหากความชื้นเกิน 16% แต่ไม่เกิน 30% ให้หักออกตันละ 15 กิโลกรัม และหากความชื้นเกิน 30% ให้หักข้าวตันละ 225 กิโลกรัม ทั้งนี้ เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการการตากข้าวของผู้ประกอบการและโรงสีที่รับซื้อ แต่กลับพบว่าไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด การที่ผู้ประกอบการตั้งราคารับซื้อต่ำกว่าประกันราคาของรัฐบาลสร้างความไม่เป็นธรรม จึงได้ยื่นข้อเรียกร้องหลักให้แก่รัฐบาล โดยผ่านทางสาขาพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้มีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน

โดยข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการรับซื้อข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม 2.ขอให้เปิดการรับซื้อข้าวเปลือกเสรีโดยอนุญาตให้โรงสีนอกพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่มารับซื้อข้าวเปลือก โดยโรงสีศิริภิญโญ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งที่ผ่านมาได้รับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่เป็นธรรม 3.ขอให้ภาครัฐให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการโรงสีให้ซื้อตามนโยบายรัฐที่ออกมาอย่างชัดเจน 3.ให้ดำเนินการวัดความชื้นด้วยเครื่องวัดความชื้น และหากข้าวเปลือกมีค่าความชื้นเกินกำหนดที่ 16-30% ให้หักตามที่ได้กำหนด และให้รัฐบาลออกนโยบายทำข้าวเหนียวกล้องเพิ่ม

“ผมและชาวนาให้เวลารัฐบาล หากผ่านไปพอสมควรกับไม่ได้รับความเหลียวแล ก็จะเดินหน้าเรียกร้องให้ได้รับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมต่อไป " นายสมาน กล่าว

พิจิตรเกิดปัญหาขาดแคลนรถเกี่ยวข้าว

นายพัน จิตรโสภา เกษตรกร ใน อ.เมือง จ.พิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่พิจิตร ต้องว่าจ้างเพื่อนบ้านช่วยเกี่ยวข้าวแทนการใช้รถเกี่ยวข้าว เนื่องจากรถเกี่ยวข้าวในพื้นที่จังหวัดไม่เพียงพอ เนื่องจากต่างพากันไปรับงานเกี่ยวข้าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีรายได้ดีกว่าการเกี่ยวข้าวในพิจิตร

"ผมทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ 5 ไร่ ต้องเกี่ยวข้าวด้วยมือ และว่าจ้างเพื่อนบ้านให้ช่วยเกี่ยวข้าวเนื่องจากรถเกี่ยวข้าวไม่พอในการเกี่ยวข้าว จึงแก้ไขปัญหาด้วยการเกี่ยวด้วยตัวเองและว่าจ้างเพื่อนบ้านวันละ 200 บาทต่อคน แม้ว่าการเกี่ยวข้าวด้วยมือจะลำบาก เพราะนอกจากจะใช้เวลาเกี่ยวนานกว่าใช้รถเกี่ยวหลายเท่าตัวแล้ว ยังต้องเสียเวลาในการนวดข้าว แต่ผลดีก็คือต้นทุนที่ต่ำกว่าและปริมาณข้าวที่จะได้มากกว่า เพราะข้าวที่ใช้รถเกี่ยวจะมีข้าวตกหล่นเยอะ แต่เกี่ยวด้วยมือจะเก็บเกี่ยวได้ละเอียดกว่า" นายพัน กล่าว

อนึ่ง รถเกี่ยวข้าวในพื้นที่พิจิตร ต่างเดินทางไปรับจ้างเกี่ยวข้าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากรายได้ดีกว่า โดยค่าจ้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาไร่ละ 700 บาท ส่วนในพิจิตรค่าจ้างไร่ละ 450 บาท

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.