หลังจากที่นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการตลาดข้าว ประกาศยกเลิกการเสนอซื้อข้าวสารใน สต๊อกรัฐบาลจำนวน 375,000 ตัน ซึ่งเป็นข้าวขาว 5% จำนวน 300,000 ตัน และข้าวเหนียว 10% อีก 75,000 ตัน โดยให้เหตุผลว่าราคาเสนอซื้อต่ำเกินไปโดยเฉพาะข้าวขาว 5% ผู้ประมูลเพิ่มให้แค่ตันละ 121-500 บาทเท่านั้น หรือรวมเป็นเงิน 65 ล้านบาท ซึ่งหากจำหน่ายในปริมาณ 219,000 ตัน จะทำให้รัฐบาลต้องขาดทุน 1,839 ล้านบาท จากต้นทุนรับจำนำ 6,512 ล้านบาท ส่วนการเสนอราคาข้าวเหนียวก็ต่ำกว่าเกณฑ์ "จนไม่มีการเปิดต่อรองราคา"
หลังจากนั้น ปรากฏมีแรงกระเพื่อมในวงการค้าข้าวเป็นระยะ ๆ เพราะปริมาณข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่มีอยู่ 5 ล้านตันเป็นตัวแปรสำคัญในช่วงที่สถานการณ์การเมืองยังไม่แน่นอนจนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการค้าข้าวว่า จำเป็นต้องเร่งระบายข้าวเพื่อหาผลประโยชน์เข้าพรรคการเมืองก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองใน กระทรวงพาณิชย์วางแผนที่จะระบายข้าวสารโดยกำหนดวิธีการไว้ 3 วิธี คือ
1) เปิดระบายข้าวผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) แบบทยอย 2) ให้ ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามาเสนอซื้อข้าวกับรัฐ โดยวิธีการนี้จะให้ กรมส่งเสริมการส่งออกเป็นผู้ตรวจสอบ ออร์เดอร์ข้าวที่ผู้ส่งออกนำมาแสดงเป็นหลักฐานว่าจริงหรือไม่ ซึ่งราคาที่จะขายให้ยึดตามเกณฑ์ราคาตลาดเป็นอย่างต่ำ และ 3) ภาครัฐตั้งราคากลางขายข้าวในสต๊อกขึ้นมา
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ฝ่ายการเมืองใน กระทรวงพาณิชย์กำลังเตรียมแผนระบายโดยให้กรมการค้าต่างประเทศกำหนด "สูตรค่าเสื่อมราคา" ขึ้นมาเสนอนาย ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ที่จะมากำกับดูแลสินค้าเกษตรแทน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เพื่อเร่งระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลโดยจะให้เหตุผลว่า ยิ่งเก็บข้าวก็ยิ่งเสื่อมสภาพ จึงสมควรจะต้องเร่งระบาย
ทั้งนี้ อัตราค่าเสื่อมซึ่งจะใช้ในการคำนวณราคาซื้อขาย เช่น ราคาหั่งเส็ง หักลบออกจากค่าขนส่งและค่าเสื่อมก็จะได้ "ราคากลาง" สำหรับใช้ในการระบายข้าวแบบที่ 1 กับแบบที่ 2 นั้น ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อราคาขายที่รัฐบาลจะได้มากหรือน้อย ปรากฏว่าอัตราค่าเสื่อมใหม่ที่คำนวณโดยกรมการค้าต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นจาก 10 เป็น 30 เหรียญสหรัฐ/ตัน/ปี โดยอ้างเหตุว่าประมวลจากสูตรคำนวณค่าเสื่อมแบบที่เอกชนใช้อยู่มาคำนวณ ซึ่งจะมีทั้งสูตรของพ่อค้าข้าว (หยง) โรงสี และผู้ส่งออกมาปรับใช้ แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาเพราะอิงเกณฑ์ต้นทุนรับจำนำมากเกินไปทำให้ค่าเสื่อมสูง
"ทางกรมการค้าต่างประเทศปรับวิธีของเอกชนมาใช้ แต่อิงต้นทุนการรับจำนำและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเกณฑ์ ทำให้ค่าเสื่อมเพิ่มขึ้นจาก 10 เป็น 30 เหรียญ ดูผิวเผินคือทำให้รัฐบาลมีรายได้ลดลง จึงถูกรองนายกฯไตรรงค์ตีกลับ แต่จริง ๆ แล้วการเบรกเรื่องค่าเสื่อมจะมีผลให้กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถใช้วิธีการระบายข้าว 2 วิธีหลัง คือ ให้ผู้ส่งออกเสนอซื้อโดยตรง กับ รมว.พาณิชย์ และวิธีกำหนดราคากลาง เท่ากับบีบให้ รมว. พาณิชย์ใช้วิธีเดียวที่เหลือยู่ คือ การเปิดซื้อขายข้าวผ่านตลาด AFET ซึ่งตามมติ กขช. ก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้เตรียมระบายข้าวผ่าน AFET ปี 2553 ปริมาณมากถึง 2 ล้านตัน หรือ 200,000-300,000 ตัน/เดือนจากปริมาณข้าวในสต๊อกทั้งหมด 5 ล้านตัน"
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงพาณิชย์เลือกวิธีที่จะระบายข้าวผ่าน AFET ก็จะ เข้าทางกลุ่มผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ในตลาด ซึ่งมี 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มโรงสีที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมือง มีมากถึง 90% กับกลุ่มผู้ส่งออกที่นิยมซื้อขายข้าวผ่านตลาด AFET ซึ่งมีอยู่ 2-3 ราย คือ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด ซึ่งเดิมเคยเป็นบริษัทโบรกเกอร์ในตลาดและเป็นผู้ชนะการประมูลข้าวผ่านตลาด AFET สูงสุดถึง 350,000 ตัน ในปีที่ผ่านมา
รองลงมาคือ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด และบริษัท เจียเม้ง จำกัด ซึ่งก็ได้ชนะการประมูลข้าวในปีที่ผ่านมาเช่นกัน ส่วน ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่น ๆ เช่น กลุ่มนครหลวงค้าข้าว, ข้าวไชยพร, เอเชีย โกลเด้นท์ไรซ์ ไม่นิยมใช้ระบบซื้อขายข้าวผ่าน AFET แต่จะซื้อในตลาดปกติมากกว่า จึงอาจจะเสียเปรียบได้
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การระบายข้าวผ่าน AFET แม้ว่าจะดูโปร่งใสในแง่การแข่งขันและสะท้อนราคาตลาดที่แท้จริง ซึ่งอีกด้านหนึ่งนั่นคือจุดอ่อนจุดใหญ่ของระบบ เพราะจะเกิดการเล่นเกมปั่นหรือทุบราคาได้เหมือนการซื้อขายหุ้น ซึ่งหากรัฐบาลไหวตัวทันพยายามแก้เกมโดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เข้าไปซื้อเพื่อเป็นตัวล่อ แต่ อคส.กลับขาดทุนจากการเข้าร่วม ประมูลเบสิกอย่างมากในปีที่ผ่านมา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|