กระทรวงพาณิชย์ ตัดสินใจระบายข้าวในสต๊อกอีก 300,000 ตันผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) หลังต้องล้มประมูลข้าวรอบล่าสุดเพราะถูกผู้ส่งออกรวมหัวกดราคาข้าวต่ำสุด อ้างสต๊อกเต็ม ราคาแข่งขันกับเวียดนามไม่ได้ จับตามีผู้ส่งออกเทรดข้าวในตลาดเพียงไม่กี่ราย เข้าทางถูกผูกขาดกดราคาภายในอีก
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมกำหนดแนวทางการเปิดระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 300,000 ตัน ได้แก่ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) สาเหตุที่ต้องระบายข้าวผ่าน AFET ก็เพื่อความโปร่งใสและที่สำคัญวิธีนี้สะท้อนราคาตลาดที่แท้จริงจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมและจะไม่กระทบต่อราคาตลาดปัจจุบัน ซึ่งผลผลิตนาปรัง 2553 กำลังทยอยออกสู่ตลาด เนื่องจาก AFET จะทยอยส่งมอบสินค้าในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป คราวละ 100,000 ตันเท่านั้น ส่วนการระบายข้าวผ่านวิธีอื่นยังไม่มีการพิจารณาในช่วงนี้โดยเฉพาะวิธีการเปิดประมูลข้าวลอตใหญ่ ซึ่งเกรงว่าจะกระทบต่อราคาตลาดได้
"การยกเลิกประมูลข้าวสาร 500,000 ตันครั้งล่าสุด ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นและภาวะการส่งออกของผู้ค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าปัจจุบันในตลาดยังมีข้าวเหลืออยู่ในมือเอกชน โดยเฉพาะข้าวนาปี 52/53 ที่รัฐไม่ได้รับจำนำและภาคเอกชนซื้อเก็บกันค่อนข้างมาก น่าจะเพียงพอต่อการใช้ส่งออกในช่วงนี้ แต่ข่าวที่ออกว่าอาจมีปริมาณตึงตัวน่าจะมาจากเรื่องการต่อรองราคา ที่ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนซื้อข้าวมาเก็บไว้ราคาสูง แต่พอตอนนี้ราคาตกทำให้ยังไม่อยากขายข้าวออกมา" นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบหาต้นตอปล่อยข่าวทุบราคาข้าว กำลังอยู่ระหว่างหาข้อมูลผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการปล่อยข่าว ซึ่งน่าจะได้ผลสรุปภายใน 2-3 สัปดาห์ ขณะเดียวกันจะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาปล่อยข่าวทุบราคาข้าวที่เกิดขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลมีแผนเปิดระบายข้าว ก็จะมีการปล่อยข่าว จนทำให้รัฐบาลเสียโอกาสในการขายข้าว อาจจะต้องส่งเสริมการบูรณาการกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับระบบฐานข้อมูลให้ใช้อ้างอิงได้ แทนการพึ่งพาข้อมูลจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดราคากลางอ้างอิงและอัตราชดเชยข้าวเปลือก รอบที่ 1 และรอบที่ 2 และมันสำปะหลัง ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2553 เพื่อใช้ในการจ่ายเงินชดเชยระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2553 โดย 1)ข้าวเปลือก (รอบที่ 1 นาปี) ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,074 บาท อัตราชดเชย ตันละ 926 บาท, ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,313 บาท ไม่ต้องชดเชย, ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,665 บาท ไม่ต้องชดเชย
และ 2)ข้าวเปลือก (รอบที่ 2 นาปรัง) ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,074 บาท อัตราชดเชยตันละ 926 บาท, ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,313 บาท ไม่ต้องชดเชย และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,665 บาท ไม่ต้องชดเชย ส่วนมันสำปะหลังเชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 1.86 บาท ไม่ต้องชดเชย
ด้านราคาข้าวที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ตั้งโต๊ะรับซื้อ ณ จุดรับซื้อของรัฐบาลตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 2552/2553 ราคาข้าวเปลือกเจ้าตันละ 9,074 บาท, ราคาข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 8,874 บาท และราคาข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 8,474 บาท
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลผ่านทาง AFET จะถือเป็นวิธีการที่โปร่งใสก็ตาม แต่ตลาดล่วงหน้ามีผู้ส่งออกข้าว-โรงสีเข้าไปเทรดเพียงไม่กี่ราย ก่อให้เกิดการผูกขาดจากผู้ซื้อ จึงมีสิทธิที่ราคาข้าวในตลาดจะร่วงลงอีก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|