จากสถานการณ์ข้าวปี 2553 ตลาดเป็นของผู้ซื้อจนถึงกลางปี เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญยังส่งออกปกติยกเว้นอินเดียที่มีมาตรการห้ามส่งออกข้าว Non-Basmati ขณะเดียวกันกลับมีประเทศผู้ส่งออกใหม่มีศักยภาพส่งออกมากขึ้นเช่น กัมพูชา พม่า และประเทศผู้นำเข้ายังคงมีสต๊อก ท่ามกลางการแข่งขันของผู้ส่งออกรายเดิมและรายใหม่ ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยตั้งแต่ 1 มกราคม-21 มิถุนายน ลดลง 8.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ตลาดข้าวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และได้จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแผนยุทธศาสตร์ตลาดข้าวไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
นางปราณี ศิริพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ (คต.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแผนยุทธศาสตร์ตลาดข้าวไทยปี2553 ว่า กรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวแยกเป็นชนิดข้าว เป้าหมายราคาและมูลค่า ตลาดส่งออก กลยุทธ์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ตลาดข้าวหอมมะลิ ได้กำหนดราคาเป้าหมายส่งออกที่ตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าส่งออกรวมทั้งปี 2,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ประมาณตันละ 19,276 บาท
กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายคือเจรจาแก้ไขอุปสรรคการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นสินค้าพรีเมียม สนับสนุนการผลิตและส่งออกหอมมะลิอินทรีย์ สำหรับตลาดเน้นรักษาตลาดเดิมได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ไอวอรีโคสต์ เซเนกัล กานา สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์และ ออสเตรเลีย ขณะเดียวกันจะขยายตลาดใหม่ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตะวันออกกลาง กาตาร์ โอมาน โปรตุเกส ออสเตรีย บราซิลและ ปาปัวนิวกินี เป็นต้น
สำหรับยุทธศาสตร์ตลาดข้าวหอมปทุมธานี ราคาเป้าหมายอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าส่งออกรวม 237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ตันละ 15,093 บาท กลยุทธ์ภาครัฐระบายสต๊อกในเวลาที่เหมาะสม ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่ามีความแตกต่างข้าวหอมมะลิดีกว่าข้าวขาว จัดคณะผู้แทนการค้าพบปะลูกค้าต่างประเทศ รักษาตลาดเดิมขยายตลาดใหม่ ส่วนยุทธศาสตร์ข้าวขาวราคาเป้าหมายอยู่ที่ตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าส่งออกรวม 1,966 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาที่เกษตรกรขายได้ตันละ 10,869 บาท กลยุทธ์ภาครัฐเจรจาขายรัฐต่อรัฐ ที่ไม่ใช่ตลาดปกติของเอกชน ระบายสต๊อกในเวลาที่เหมาะสมโดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนการส่งออกของเอกชนในช่วงที่มีการเปิดประมูล เช่น อิรัก ซีเรีย เพิ่มมูลค่าส่งออกโดยบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก รักษาตลาดเดิมขยายตลาดใหม่
ยุทธศาสตร์ตลาดข้าวนึ่ง ราคาเป้าหมายนำอยู่ที่ตันละ 636 ดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าส่งออกรวม 1,503 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาที่เกษตรกรขายได้ตันละ 11,664 บาท กลยุทธ์ภาครัฐจัดเก็บข้าวเปลือกจากมาตรการรับซื้อของรัฐบาลเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งในช่วงเวลาที่เหมาะสม พัฒนากระบวนการผลิตข้าวนึ่งให้มีประสิทธิภาพ จัดคณะผู้แทนการค้าเยือนตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ พบปะหารือกับเทรดเดอร์เพื่อขยายตลาดข้าวนึ่งในแอฟริกา
ด้านยุทธศาสตร์ข้าวเหนียวและข้าวลักษณะพิเศษ กำหนดราคาเป้าหมายไว้ที่ตันละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าส่งออกรวม 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาที่เกษตรกรขายได้ตันละ 13,002 บาท กลยุทธ์ทยอยระบายสต๊อกข้าวเหนียวในช่วงเวลาที่เหมาะสม สนับสนุนการผลิตข้าวลักษณะพิเศษสร้างตราสินค้า เชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงข้าวลักษณะพิเศษที่มีคุณค่าโภชนาการสูง รักษาตลาดเดิมขยายตลาดใหม่
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ตลาดข้าวไทยควรให้ความสำคัญการแข่งขันที่คุณภาพมากกว่าราคา ภายหลังจากที่จัดทำยุทธศาสตร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ และกรมการค้าภายใน เป็นแม่งานหลักไปตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะทำงานกำหนดมาตรฐานข้าว คำนึงถึงตลาดเป็นตัวตั้งว่าตลาดไหนต้องการข้าวมาตรฐานอย่างไร 2.คณะทำงานด้านราคาเพื่อกำหนดราคาเป้าหมายที่เหมาะสม 3.คณะทำงานจัดทำระบบข้อมูลข้าว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย และ 4.คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ตลาดข้าวไทยฉบับนี้ถือเป็นภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ ให้คณะทำงานดำเนินการได้เลยไม่อิงการเมือง ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่ออิสรภาพการทำงานและความคล่องตัว
อย่างไรก็ดียุทธศาสตร์ตลาดข้าวที่ดำเนินการโดยสำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ ดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก อาทิ ยุทธศาสตร์ข้าวหอมมะลิ นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัท เจียเม้ง จำกัด กล่าวว่า จะขายข้าวให้ได้ราคานั้นคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าแก้ไขเรื่องคุณภาพไม่ได้ ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าแก้ไขคุณภาพได้ราคาจะตามมาเอง เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ตลาดข้าวหอมมะลิจำเป็นต้องทำทั้งคุณภาพและราคาควบคู่กันไป
"เวลานี้ข้าวหอมมะลิคุณภาพมาตรฐานไม่ถึง 92% บริษัทเจียเม้ง ซึ่งส่งออกข้าวหอมมะลิมานานกว่า 50 ปี ซื้อข้าวหอมมะลิที่จังหวัดอุบลราชธานี มาสีได้คุณภาพไม่ถึง 92% (มาตรฐาน 92% หมายถึงมีข้าวชนิดอื่นผสมได้ 8%) ส่วนใหญ่ได้แก่86%, 88%, 82% นั่นหมายความว่าการผสมเกิดขึ้นตั้งแต่ภาคการผลิตแล้ว เพราะฉะนั้นหน่วยงานของรัฐต้องตระหนักถึงกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานด้วย ถ้าคุณภาพเราได้ลูกค้าเขาให้ราคาสูงเอง เช่น มาตรฐาน 95% ฮ่องกงซื้อถึงตันละ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ"
เช่นเดียวกับนายคมกฤช ธรรมรัตนกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าข้าวขาวมีปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานเช่นเดียวกัน เช่น ข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 อดีตมีความยาวมากกว่า 7 มิลลิเมตร แต่ปัจจุบันความยาวไม่ถึงทำให้ขายไม่ได้ราคา ขณะที่ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรได้ชี้แจงว่าการพัฒนาพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์ใช้เวลาปรับปรุงนาน เพราะฉะนั้นอยากให้ระบุให้ชัดเจนว่าตลาดไหนต้องการข้าวชนิดใด และกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตให้ชัดเจนด้วยเพื่อจะได้ปรับปรุงพันธุ์และส่งเสริมการผลิตได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ด้านนายธารเกษม วนิชจักรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กล่าวว่าเห็นด้วยกรณีกำหนดยุทธศาสตร์ตลาดข้าวเน้นที่คุณภาพ เพราะหากเน้นราคาจัดการลำบาก ขณะเดียวกันกรมการข้าวเน้นการวิจัยแต่ยังไม่เชื่อมโยงกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงของอากาศและน้ำ เพราะมีผลต่อคุณภาพข้าว
ขณะที่นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กล่าวทำนองเดียวกันว่าเห็นด้วยกับการให้ความสำคัญคุณภาพมาตรฐานตั้งแต่ระดับไร่นา โรงสี แต่ทั้งนี้ต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพให้ตรงตามเป้าหมาย ดังจะเห็นได้จากยุโรปเคยสั่งซื้อข้าวนึ่งจากสหรัฐอเมริกาเพราะคุณภาพสม่ำเสมอ แต่หลังจากที่สหรัฐฯ มีปัญหาข้าวจีเอ็มโอยุโรปได้หันมาสั่งซื้อข้าวนึ่งไทย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ซื้อให้ความสำคัญกับคุณภาพ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|