นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามผลการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-พ.ค.2553 พบว่า การค้าสินค้าเกษตรในอาเซียนมีมูลค่า 99,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.90% เป็นมูลค่าการส่งออก 81,729 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 17,665 ล้านบาท ได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 64,064 ล้านบาทเทียบช่วงเดียวกัน
สินค้าที่ไทยขยายการส่งออกได้มากขึ้น คือ ข้าวและธัญพืช มูลค่า 15,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% ผลิตภัณฑ์แป้งจากธัญพืช มูลค่า 5,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257% กลุ่มน้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล มูลค่า 26,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 185% สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีการขยายการนำเข้ามากขึ้น เช่น กลุ่มสินค้านม ไขมัน น้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น
"แม้การส่งออกสินค้าเกษตรในภาพรวม ไทยจะได้เปรียบดุลการค้า แต่ก็ต้องเตรียมพร้อม ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ เสนอให้ใช้มาตรการปกป้องพิเศษของความตกลงว่าด้วยการเกษตร หรือ SSG ภายใต้การเปิดเสรีการค้าอาเซียน"
ทั้งนี้มาตรการปกป้องพิเศษ มีวิธีการคือนำข้อมูลการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือราคาภายในประเทศที่ตกต่ำ (TRIGGER VOLUME หรือ TRIGGER PRICE) เฉพาะสินค้าที่ผ่านการเปิดตลาดโควตาภาษีแล้ว มาคำนวณเพื่อหาค่าเกณฑ์ปริมาณและเกณฑ์ราคานำเข้า ดังนั้นกระทรวงเกษตรต้องเฝ้าระวังและเตรียมตัวเลขทั้งหมด เพื่อประสานกรมการค้าต่างประเทศ ในการพิจารณาเร่งรัดออกประกาศหรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับมาตรการปกป้องพิเศษของสินค้าแต่ละชนิดที่ไทยนำเข้าจำนวนมากผิดปกติ
"หากตัวเลขการนำเข้าซึ่งจะพิจารณาจากปริมาณเป็นหลัก มีจำนวนมากกว่าที่กำหนดไว้ ไทยสามารถเก็บภาษีการนำเข้าได้ทันที ตามมาตรการปกป้องพิเศษนี้ ในอัตราไม่เกิน 1 ใน 3 ของอัตราภาษีที่เก็บจริง หรือภาษีนอกโควตา ทั้งนี้เพื่อควบคุมปริมาณนำเข้าให้ลดลง"
สินค้าที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือข้าว จะกำหนดให้สามารถนำเข้าได้ไม่เกินปริมาณ 35,521 ตัน เมล็ดกาแฟ 8,762 ตัน กาแฟสำเร็จรูป 616 ตัน และน้ำมันปาล์ม 16,396 ตัน เป็นต้น
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ตามมาตรการปกป้องพิเศษดังกล่าวจะประกาศใช้ปีต่อปี ดังนั้น การเก็บข้อมูลจะต้องติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อนำข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีมาใช้ในการคำนวณหาตัวเลขการนำเข้าที่เหมาะสม ในส่วนของข้าวขณะนี้มีการจัดเก็บภาษีนอกโควตา 52% เมล็ดกาแฟ 90%
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|