นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ เริ่มส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศแล้ว ที่ชัดเจนที่สุดคือ ราคาข้าว ที่แม้ว่าความต้องการตลาดโลกจะเพิ่มมากขึ้น และผลผลิตในประเทศเริ่มลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูเพาะปลูก โดยราคาข้าวเปลือกขาวทั่วไปควรจะปรับตัวสูงขึ้น และน่าจะอยู่ที่เฉลี่ยตันละ 10,000 บาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันราคากลับอยู่ที่ตันละ 9,000 บาท
นอกจากนี้ ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลง ที่นำเข้าและได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า กลับไม่ปรับลดราคาทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรยังสูงอยู่ ประกอบกับปีนี้ภาคเกษตรต้องประสบปัญหาแล้งจัด ผลผลิตสินค้าทุกชนิดออกสู่ตลาดน้อย ปริมาณส่งออกจึงขยับตัวได้น้อย
"หากไม่มีปัญหาเรื่องค่าเงินบาท สินค้าที่เกษตรกรไทยผลิตได้น้อยอยู่แล้ว ควรจะมีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาค่าเงินคาดว่าจะกระทบไปถึงราคาข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2553 - ม.ค. 2545 ด้วย"
นายอภิชาต กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรดังกล่าว ทำให้คาดว่าปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีภาคเกษตรทั้งปี จะขยายตัวเพียง 2.7-3.2% เท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาจากจีดีพีประเทศที่คาดว่าจะเติบโตมากถึง 7-8% หรือธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัว 10% นั้น น่าจะส่งผลให้จีดีพีภาคเกษตรของไทยขยายตัวได้มากกว่านี้
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการศึกษาของกรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ถึงผลกระทบราคาข้าวต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท เบื้องต้นประเมินว่าเงินบาทแข็งค่าทุก 1 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นตันละ 300 บาท หรือ 10 ดอลลาร์
นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเท่ากับว่าผู้ส่งออกต้องเสียรายได้ไปมากขึ้น เพราะรายได้เมื่อแปลงเป็นเงินบาทมีมูลค่าต่ำลง ดังนั้นทั่วไปจึงส่งผลกระทบถึงเกษตรกร ที่ต้องถูกกดราคารับซื้อไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่ซื้อเพื่อส่งออกที่มีกว่า 70% ของผลผลิตทั่วประเทศ ดังนั้นภาพรวมแล้วสถานการณ์เงินบาทขณะนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบถึงจีดีพีประเทศแน่นอน
“ทุกประเทศในเอเชียประสบปัญหาค่าเงิน แต่รัฐบาลไทยกลับไม่มีมาตรการรับมือเรื่องนี้ ทุกอย่างปล่อยให้เป็นภาระของผู้ส่งออกต้องปรับตัว ซึ่งทุกวันนี้ทุกคนชะลอรับออเดอร์ หากเป็นเช่นนี้ สักวันคงต้องหยุดกิจการ"
นายวิชัย กล่าวว่า การที่ราคาข้าวภายในประเทศไม่ปรับเพิ่มช่วงนี้ นอกจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าแล้ว ยังมาจากข้าวที่รัฐบาลระบายออกจากสต็อกจึงส่งผลจิตวิทยาทำให้ราคาไม่ปรับตัวขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาข้าวต้องดูรอบด้านไม่ควรตั้งเป้าให้ราคาสูงอย่างเดียว แต่ควรปรับคุณภาพ เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ลดต้นทุนต่ำลง แม้ราคาจะลดลงมาก แต่เชื่อว่าเกษตรกรจะมีกำไรมากกว่าปัจจุบัน ขณะที่ผู้ส่งออกก็สามารถเสนอราคาขายแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นได้
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อราคาข้าวไทยสูงขึ้น ทำให้แข่งขันได้ลำบาก ผู้ซื้อสั่งสินค้าน้อยลงแต่ในส่วนของบริษัทได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากเท่าที่ควรมากเพราะทำประกันค่าเงินไว้ล่วงหน้าอย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ส่งออกที่ไม่ได้ทำประกันค่าเงินไว้ หรือรับมือกับปัญหาเงินบาทแข็งค่าไม่ทันจะได้รับผลกระทบอย่างมาก
“ไม่ได้บอกว่าขายข้าวไม่ได้เลย เพราะการซื้อขายยังมีอยู่ แต่ผู้ซื้อมีข้อจำกัดเรื่องราคา ถ้าโค้ดราคาแพงมาก ผู้ซื้อก็จะลดปริมาณซื้อ หรือไปซื้อคู่แข่ง ส่วนข้าวขาวตอนนี้ไม่มีคู่แข่งเพราะเวียดนามไม่มีผลผลิต แต่การรับคำสั่งซื้อต้องระวังเรื่องการโค้ดราคาให้สอดคล้องกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|