นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงการเดินทางไปขยายตลาดข้าวในทวีปแอฟริกาเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากการหารือกับรัฐบาลไนจีเรีย ปรากฏว่า ไนจีเรียสนใจจะซื้อข้าวไทย จำนวน 6.5 แสนตัน ประเทศเซเนกัล จำนวน 5 แสนตัน เบื้องต้นมีการตกลงด้วยวาจา ซึ่งหลังจากนี้คณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ จะกำหนดหารือรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อดำเนินการซื้อขายในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
"ไม่ขอพูดเรื่องระบายข้าว โดยเฉพาะตัวเลขที่ชัดเจน ทั้งปริมาณที่ขายไปแล้ว และสต็อกที่เหลือ เพราะจะส่งผลต่อราคาข้าวในตลาด ซึ่งการระบายที่ผ่านมาถือว่าได้ผลดี และไม่ทำให้ราคาตลาดลดลงมาก แต่กำหนดให้ระบายต้องเสร็จสิ้นก่อนข้าวฤดูใหม่จะออกมาใน ธ.ค. เพราะปีนี้ข้าวออกช้ากว่าทุกปี แต่การระบายต้องเก็บสำรองรอง เป็นเซฟตี้สต็อกไว้ด้วยจำนวนหนึ่ง"
อย่างไรก็ตาม การระบายข้าวที่ผ่านมา นายไตรรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ขอพูดถึง เพราะจะทำให้ตลาดได้รับผลกระทบ ส่วนข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใสก็สามารถอธิบายได้ เพราะทุกอย่างมีเอกสารและคณะทำงานพิจารณารอบคอบ เมื่อการระบายสิ้นสุดสามารถชี้แจงได้ และไม่ใช่เรื่องปกปิดหรือไม่โปร่งใส แต่การพูดก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
“ผมไม่พูดเรื่องตัวเลข ขายเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ เพราะไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ แต่เมื่อระบายเสร็จแล้ว จะบอกได้หมดเพราะทุกอย่างมีขั้นตอน ส่วนรายละเอียด ผมไม่รู้ ผมดูนโยบาย จะขายให้ใครไม่รู้”
ส่วนการดูแลราคาข้าว ยอมรับว่า หากผลักดันราคาให้สูงมาก ผู้ส่งออกก็แข่งขันไม่ได้ เท่ากับทำลายตัวเอง ทำให้เสียส่วนแบ่งตลาดไป ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะไปเปิดตลาดบางส่วนกลับคืนมา ส่วนการแข่งขันลดค่าเงินบาทนั้น ส่วนตัวยอมรับว่า ขณะนี้เงินบาทแข็งค่ามาก แต่ไม่ขอพูดอะไร เพราะเป็นหลักการที่รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
แหล่งข่าวจาก ครม. เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เปิดระบายข้าวแก่ภาคเอกชน เพื่อนำไปส่งออกแล้ว 6 ครั้งๆ ล่าสุดได้รับเห็นชอบจากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก่อนไปเยือนไนจีเรีย อีก 2-3 แสนตัน ขณะนี้แผนระบายข้าว ของรัฐบาลทำได้ตามเกือบถึงเป้าที่ตั้งไว้แล้ว ปริมาณที่ระบายแล้ว 3 ล้านตัน แบ่งเป็นระบายผู้ส่งออกรายใหญ่ 3 ราย ปริมาณ 1 ล้านตัน และ 2 ระบายให้บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์ เทรด จำกัด 1.8 ล้านตัน ที่เหลือระบายให้รายย่อย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ รุ่นที่ 3 ได้ร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ข้าว โดยเห็นว่านโยบายช่วยเหลือชาวนา เช่น ประกันราคา หรือแทรกแซงราคาข้าว ล้วนเป็นการช่วยเหลือเฉพาะการเงิน ไม่ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขีดแข่งขัน ทำให้ยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
"หอการค้าไทยจะเสนอรัฐบาลตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ข้าวใหม่ ปราศจากนักการเมือง โดยมีผู้เชี่ยวชาญทุกภาค ส่วนเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อวางยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ เพิ่มขีดแข่งขัน โดยรัฐบาลได้ตอบรับที่จะนำยุทธศาสตร์ข้าวดังกล่าว ไปปรับใช้ในนโยบายข้าว"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|