ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานหลังวันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 5 ประเทศได้ลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือ 0% จากเดิมที่มีอัตราภาษีนำเข้า 5% แต่มีเพียงฟิลิปปินส์ให้โควตานำเข้าข้าวจากไทย 370,000 ตันในอัตราภาษี 0% เพื่อชดเชยการคงอัตราภาษีข้าวไว้ที่ 40% โดยบรรจุไว้ในรายการสินค้าที่ไม่ลดภาษี (เอ็กซ์คลูชั่นลิสต์) ขณะที่ 4 ประเทศอาเซียนใหม่ คือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จะต้องลดภาษี 0% ในปี 2558
ทั้งนี้ ประเทศไทยหวังว่า AFTA จะช่วยขยายตลาดข้าวในประเทศอาเซียนได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ด้านการนำเข้า ทางรัฐบาลได้ออกประกาศมาตรการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางติดตามดูแลการนำเข้าเฉพาะปลายข้าวและข้าวหักสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออก พ.ศ. 2522 โดยหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อให้มีผลภายในเดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าข้าวหลังจากการลดภาษี AFTA ในสัปดาห์แรก ยังไม่มีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามากนัก แต่การส่งออกข้าวไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านกลับมีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากในช่วงปลายปี 2552 เวียดนามชนะการประมูลข้าวฟิลิปปินส์ถึง 4 ลอตต่อเนื่อง รวมปริมาณเบื้องต้น 1.45 ล้านตัน จากที่เปิดประมูล 1.9 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวในเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาเอฟ.โอ.บี. ข้าวขาว 25% ที่มีออร์เดอร์จากฟิลิปปินส์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ปรับตัวขึ้นไปถึงตันละ 600 เหรียญสหรัฐ หรือ 19,000 บาท สูงกว่าราคาข้าวไทยที่ซื้อขายกันเพียงตันละ 16,000 บาท
นายชาญชัย รักษธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า วัตถุดิบปลายข้าวที่ใช้ภายในประเทศเวียดนามมีไม่เพียงพอที่จะนำมาผสมเป็นข้าว 25% ส่งมอบ ฟิลิปปินส์จึงได้เร่งนำเข้าปลายข้าวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะกัมพูชา ทำให้มีพ่อค้ากัมพูชาสั่งซื้อปลายข้าวผ่านจากพรมแดนติดกับไทย เพื่อส่งออกไปเวียดนามเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปลายข้าวปรับขึ้นจาก ก.ก.ละ 11 บาทในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่เป็น 13 บาทในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ โรงสีในพื้นที่ใกล้เคียงกับชายแดนก็ได้สั่งซื้อปลายข้าวจากนอกพื้นที่เพิ่มขึ้น
"ปริมาณความต้องการปลายข้าวเวียดนามจะมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 400,000 ตัน เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตข้าว 25% ส่งมอบให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะต้องใช้ ปลายข้าวในสัดส่วน 42% ผสมกับข้าวต้นอีก 58% แต่ในการผลิตของเวียดนามสามารถ สีแปรข้าวเปลือกได้ 70% มีปลายข้าวเหลือเพียง 30% จึงต้องนำเข้าปลายข้าว ดังนั้น แนวโน้มราคาปลายข้าวน่าจะปรับขึ้นได้อีกถึง 14-15 บาท จากราคาสูงสุดที่เคยทำสถิติสูงสุดในปี 2551 ที่ปรับขึ้นไปถึง 21 บาท เพราะยังมีอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องทั้งอาหารสัตว์ แป้ง และเบียร์ ที่ต้องใช้ปลายข้าวเป็นวัตถุดิบ แต่ข้าวจะไหลออกไปตามชายแดน เพราะราคาเวียดนามสูง" นายชาญชัยกล่าว
นายชาญชัยกล่าวว่า การกำหนดมาตรการดูแลการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ของกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่มีโจทย์ที่ต้องดูแล รัฐบาลควรมีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเป็นเจ้าภาพในการดูแล เพื่อจัดสรรเงินค่าธรรมเนียมจากการขออนุญาตนำเข้าข้าวไปใช้เป็นกองทุนพัฒนาชาวนา ป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เกี่ยวข้องที่มาจากหลายสมาคม เช่น สภาหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมผู้ค้าข้าวถุง, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, สมาคมโรงสีข้าวไทย, สมาคมชาวนาไทย และสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย ซึ่งล้วนแต่อยู่ในคณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้กรอบ AFTA
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |