นักวิจัยของสหรัฐ ฟิลิปปินส์ และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ซึ่งติดตามผลกระทบจากอุณหภูมิ ที่มีต่อการเพาะปลูกข้าว ซึ่งอาศัยระบบการชลประทาน ระหว่างปี 2537-2542 ในพื้นที่เพาะปลูก 227 แห่ง ในจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งผลิตข้าวในสัดส่วน 90% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง คืออุณหภูมิต่ำสุดของแต่ละวันที่ปรับตัวสูงขึ้น หรืออุณหภูมิในเวลากลางคืนที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ นายจาร์ร็อด เวลช์ นักวิจัยผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงกลางวัน สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ แต่การที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลากลางคืน ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้สูญเสียผลผลิตข้าวในอนาคต ทั้งนี้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตข้าวในแหล่งเพาะปลูกสำคัญหลายแห่งลดลงไปแล้วประมาณ 10-20%
"ผลการศึกษาของเรามีลักษณะเฉพาะเนื่องจากเราใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากเกษตรกร จากทุ่งนาที่ปลูกข้าว ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศต่างๆ" นายเวลช์ กล่าว
นักวิจัยกลุ่มนี้ ระบุว่า ข้าวเป็นอาหารประจำวันสำหรับประชากรประมาณ 3,000 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชีย หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และกว่า 60% ของประชากรที่มีฐานะยากจน 1,000 ล้านคนในเอเชีย ต้องพึ่งพาข้าวเป็นอาหารหลัก ซึ่งการลดลงของผลผลิตข้าวอาจหมายถึงการที่จะมีประชากรในเอเชียร่วงลงไปอยู่ใต้เส้นวัดฐานะยากจนและหิวโหยมากขึ้น
"ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตข้าว หรือพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติต้านทานสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นได้ ผลผลิตข้าวของเราจะลดลงในช่วง 2-3 ทศวรรษข้างหน้าท่ามกลางภาวะอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงกลางศตวรรษ" นายเวลช์ ให้ความเห็น
ทีมงานวิจัย ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานชิ้นนี้ รวมถึง ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ วินเซนต์ จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก นายแม็กซิมิเลียน อุฟแฮมเมอร์ จากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ แคลิฟอร์เนีย นายพีแดด โมยา นายอาคิม โดเบอร์มานน์ จากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (อีรีร์) และนายเดวิด ดอว์ จากเอฟเอโอ เชื่อว่าต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในช่วงกลางศตวรรษเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกจากปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮต์)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |