นายซามาเรนดู โมฮันตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (อีร์รี) ระบุในรายงาน ที่เปิดเผยวานนี้ (11 ม.ค.) ว่า ราคาข้าวส่งออกมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 600 ดอลลาร์ต่อตัน ในระยะอันใกล้นี้ หลังภาวะแห้งแล้ง และน้ำท่วมหนัก ทำให้นาข้าวในอินเดีย และฟิลิปปินส์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
"เป็นเรื่องที่แน่นอนว่า ที่จะพูดว่า ราคาข้าวจะไม่กลับไปอยู่ที่ระดับ 300 ดอลลาร์ต่อตันในเร็ววันนี้ และมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับประมาณ 600 ดอลลาร์ต่อตันในระยะใกล้" นายโมฮันตี กล่าว แต่ไม่ได้ให้กรอบเวลาที่ชัดเจนแต่อย่างใด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีราคาข้าวเอเชียในไทย ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 607 ดอลลาร์ต่อตัน จากระดับ 525 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อปี 2552 ผลจากการเข้าซื้อข้าวล่วงหน้าของฟิลิปปินส์ และความวิตกว่าอินเดียอาจกลายเป็นผู้นำเข้าข้าวสุทธิ หลังภัยแล้งสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตอย่างหนัก
ก่อนหน้านี้ องค์การอาหาร และเกษตรกรรม แห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประเมินว่า ในช่วงปลายฤดูเพาะปลูกปี 2552-2553 ปริมาณข้าวสำรองทั่วโลกจะลดลง 2.7% มาอยู่ที่ 121.1 ล้านตัน เพราะหลายประเทศ รวมถึงอินเดีย ฟิลิปปินส์ อิรัก เนปาล และปากีสถาน มีผลผลิตน้อยลง
อย่างไรก็ดี นายโมฮันตี ระบุว่า ปริมาณข้าวสำรองของปลายประเทศ ยกเว้นไทยจะไม่ออกสู่ตลาด แม้ในช่วงเวลาที่ราคาเริ่มทะยานสูงขึ้นก็ตาม ซึ่งหากอินเดียปล่อยข้าวสำรองที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 42 ล้านตัน เทียบกับความต้องการในประเทศที่ราว 25 ล้านตัน ก็จะช่วยบรรเทาความกังวลในตลาดไปได้มากทีเดียว เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศเอเชียใต้รายนี้ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าข้าวแต่อย่างใด
กระนั้นก็ตาม รายงานของสมาคมผู้ผลิตข้าวสหรัฐ ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ฟิลิปปินส์อาจจำเป็นต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เพิ่มอีกราว 500,000-1 ล้านตัน เพิ่มเติมจากที่ซื้อมาแล้วในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |