รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 12 ก.พ.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้พิจารณาเรื่องการหักค่าเสื่อมสภาพข้าวในสต็อกรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์กำหนดราคากลางขายข้าวในสต็อกรัฐบาลให้ผู้ส่งออก โดยจะเสนอหักค่าเสื่อมที่ตันละ 21 ดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนหน้านี้ ที่ประชุมไม่เห็นชอบหลักเกณฑ์ ตามที่กรมการค้าต่างประเทศเสนอที่ตันละ 30 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจุบัน หักค่าเสื่อมที่ตันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากไม่ได้หักค่าเสื่อมจากสภาพข้าวที่เป็นจริง แต่หักจากต้นทุนการรับจำนำ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่นำมาใช้บริหารจัดการข้าว เป็นต้น แต่หลักเกณฑ์ที่จะเสนอใหม่ครั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้สำรวจจากการหักค่าเสื่อมผู้ส่งออกแล้วนำมาถัวเฉลี่ยกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะหักที่ตันละประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอ กระทรวงพาณิชย์จะระบายข้าวสต็อกรัฐบาลด้วยวิธีการประมูลเป็นการทั่วไป หรือให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อเสนอราคาซื้อมายังกระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ได้ทันที แต่หากไม่เห็นชอบ ก็ยังไม่สามารถเปิดระบายด้วยวิธีดังกล่าวได้ คงจะเปิดระบายได้เพียงในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) เท่านั้น
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว ระบุว่า เป็นไปได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม เพราะควรจะหักค่าเสื่อมเป็นขั้นบันได ไม่ใช่หักเท่ากันหมด เช่น ข้าวที่เก็บมาแล้ว 1 ปีหักค่าเสื่อมตันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ปีที่ 2 หักที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ปีที่ 3 หักที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น เพราะข้าวยิ่งเก็บ คุณภาพก็จะยิ่งเสื่อมลง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ข้าวเก็บมาแล้ว 1 ปี กับ 5 ปีจะมีคุณภาพเท่ากัน และหักค่าเสื่อมเท่ากัน
ทั้งนี้ รสนิยมการบริโภคข้าวในตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่นิยมข้าวเก่า ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่เน้นข้าวใหม่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการซื้อข้าวจากเวียดนาม ดังนั้นข้าวในสต็อกรัฐบาล จึงไม่ควรจะมีค่าเสื่อมราคาที่สูงเกินไป เพราะการเก็บรักษาข้าวของรัฐจะมีกำหนดการรมยาและตรวจสอบสภาพพลิกกอง อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการที่ถือปฏิบัตินี้จะสามารถเก็บรักษาข้าว ให้อยู่ในสภาพที่ดีได้สูงสุด 3-4 ปี ทำให้วงการค้าข้าว ไม่เห็นด้วยกับแผนการกำหนดค่าเสื่อมสภาพแบบตายตัว เพราะจะเป็นช่องให้มีการกดราคารับซื้อข้าวจากรัฐ และเป็นช่องทางให้มีการหาประโยชน์ จากการระบายในแต่ละล็อตของรัฐบาล
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |