ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า ขณะนี้ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จัดทำแผนโรดโชว์ขาย ข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) อีกครั้ง หลังจากเลื่อนมาระยะหนึ่งตามที่ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี "ปฏิเสธ" การเดินทางไปขายข้าวทริปแรก ที่วางแผนจะไปพบ รัฐบาลมาเลเซียในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าจะไม่ไปขายข้าวต่างประเทศในลักษณะเร่ขาย ซึ่งอาจจะทำให้ถูกกดราคาข้าวได้
แต่ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมการจัดโครงการโรดโชว์อีกครั้ง โดยมีนายไตรรงค์เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง พร้อมกับตัวแทนของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดยครั้งแรกมีแผนจะเดินทางไปเยือนและพบกับรัฐบาลในประเทศบังกลาเทศ-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอิหร่าน ระหว่างวันที่ 12-18 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ จากเดิมที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนดแผนการเดินทางไว้ 3 แผนด้วยกัน คือ 1) วันที่ 7-9 เมษายน เดินทางไปบังกลาเทศ 2) วันที่ 21-25 เมษายน เดินทางไปลิเบีย-เซเนกัล และ 3) ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน เดินทางไปอิหร่าน-อินเดีย และมอริเชียส
"สาเหตุที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งดำเนินการแผนโรดโชว์ คงเป็นเพราะปัจจุบันสถานการณ์การส่งออกข้าวในส่วนของภาคเอกชนชะลอตัวลงไปมาก แม้ว่าจะพยายามทำตลาด ที่ผ่านมาผู้ส่งออกซื้อข้าวเก็บสต๊อกไว้ 5-6 ล้านตัน รวมข้าวรัฐบาลอีก 5-6 ล้านตัน และยังมีโรงสีอีก 5 ล้านตัน ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ตัวเลข 8.33 ล้านตัน ยิ่งมีผลทำให้ราคาตลาดลดลง เช่น ข้าวขาว 5% จากปลายเดือนก่อนตันละ 14,000-14,500 บาท ขณะนี้ผู้ส่งออกซื้อเหลือ 13,000-13,500 บาท หรือคิดเป็นข้าวเปลือกประมาณ 6,500-7,500 บาท ชาวนาก็เลยออกมาขู่ม็อบ ถ้าไม่มีโรดโชว์กระตุ้นตลาด รัฐบาลก็จะเสียงบประมาณในการเก็บรักษาสต๊อกข้าวเก่าที่ไม่เคยระบายเลยนับจากสมัยอดีตรัฐมนตรี ไชยา สะสมทรัพย์ และยังต้องชดเชยเงินให้เกษตรกรในโครงการประกันรายได้อีก"
แหล่งข่าวสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า การเดินทางไปพบลูกค้าและการทำจีทูจีจัดเป็นนโยบายที่ควรสนับสนุน เพราะสถานการณ์การส่งออกข้าวในช่วงไตรมาส 2 จะเริ่มเห็นตัวเลขลดลงแล้ว หลังจากกลุ่มผู้ซื้อชะลอดูสถานการณ์ราคาข้าวในไทยที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความไม่มั่นใจในการสั่งซื้อ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวยักษ์ใหญ่ 4-5 รายที่มีสต๊อกต้องชะลอการรับซื้อข้าวใหม่ในตลาด เพื่อลดต้นทุนการเก็บสต๊อกในช่วงภาวะราคาขาลง ดังนั้นหากรัฐบาลได้ออร์เดอร์จีทูจีก็จะต้องให้ภาคเอกชนเป็นผู้ส่งมอบอยู่แล้ว และยังเป็นการกระตุ้นตลาดอีกทางหนึ่งด้วย
"รัฐบาลควรมีแผนปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ไม่ใช่แค่ไปจับมือกันหรือเอาเอกชนไปเซ็น MOU บางประเทศที่เคยนิยมซื้อจีทูจีอย่างอิหร่าน ปัจจุบันก็ปรับวิธีให้เอกชนซื้อขายกันเองมากขึ้น หรือบังกลาเทศก็นิยมซื้อผ่านระบบค้าชายแดนกับปากีสถานและอินเดีย เพราะมีราคาถูกกว่าข้าวไทยตันละ 100 เหรียญสหรัฐ ขณะที่อินเดียมีแนวโน้มว่าจะกลับมาส่งออกข้าวอีกแล้ว หลังจากชะลอแผนการนำเข้าเพราะมีธัญพืชออกมา" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้รายงานตัวเลขการส่งออกข้าว 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) 2553 ปริมาณรวม 1,409,698.10 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 7.40% ด้านมูลค่า 873.83 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 22.75% ทั้งหมดเป็นการส่งออกข้าวของภาคเอกชนเท่านั้น โดยตลาดส่งออกสำคัญรายภูมิภาค ได้แก่ เอเชีย ปริมาณ 452,739.50 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 32.12% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 74.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, ตะวันออกกลาง 172,818.08 ตัน สัดส่วน 12.26% ลดลง 16.95%, ตลาดยุโรป 75,323.99 ตัน สัดส่วน 5.34% ลดลง 28.06%, ตลาดแอฟริกา 607,610.06 ตัน สัดส่วน 43.10% เพิ่มขึ้น 1.03%, สหรัฐ 76,499.79 ตัน สัดส่วน 5.43% ลดลง 33.89% และโอเชียเนีย 24,706.69 ตัน สัดส่วน 1.75% เพิ่มขึ้น 7.46%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|