ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2553 ได้แก่ ทีมวิจัยจากศูนย์พันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กับผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มกลิ่นหอมมะลิ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ที่พัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 12
ผลงานการวิจัยดังกล่าว นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมและข้าวเหนียว ได้เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่มากถึง 8 สายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่น โดยเพิ่มคุณสมบัติต้านทานโรคแมลง สามารถเพาะปลูกได้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่แล้ง หรือพื้นที่ดินเค็ม
ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้ระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์สั้นลง และเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรได้เพาะปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่อย่าง หอมมะลิ 106 และข้าวเหนียวหอม กข.6 ซึ่งปัจจุบันปลูกข้าวสายพันธุ์ดังกล่าวในปริมาณมากถึง 80%
"ผลงานการวิจัยของ รศ.อภิชาติ และคณะ เน้นการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยไม่ใช้วิธีดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ ซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน ทีมวิจัยยังได้ศึกษายีนความหอมในพืชอื่น เช่น ถั่วเหลือง ซึ่งมีคุณลักษณะเด่นด้านความหอมไม่แพ้ข้าว เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต่อไป" ศ.นพ.สิริฤกษ์ ประกาศ
รศ.อภิชาติ หัวหน้าศูนย์พันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวสามารถพัฒนาเทคโนโลยีค้นหาข้าวสายพันธุ์ใหม่ด้วยการดึงลักษณะเด่นของข้าวแต่ละสายพันธุ์ในระดับพันธุกรรม หรือการแสดงออกของยีนที่แตกต่าง หรือ Molecular Maker Snip ซึ่งทำให้การค้นหาข้าวสายพันธุ์ใหม่ทำได้เร็วขึ้น ในช่วง 3 ปี จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี กว่าจะได้ข้าว 1 สายพันธุ์
"เทคโนโลยีทำให้การขยายพันธุ์ข้าว เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา เพราะกว่าจะได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 10 ล้านบาท แต่ผลการวิจัยสามารถค้นหาข้าวสายพันธุ์ที่มีหลายคุณลักษณะเด่นในสายพันธุ์เดียว ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่เทคนิคจีเอ็มโอทำไม่ได้"
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้ตัดสินรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี จำนวน 3 คน ได้แก่ ผศ.โชติรัตน์ รัตนามหัทธะ ภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานการใช้ไดนามิกไทม์วอร์ปปิงในการทำเหมืองข้อมูล
ผศ.พิมพ์ทอง ทองนพคุณ คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา จากผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนาโนซิลเวอร์เคลย์และเทคนิคการขึ้นรูปเครื่องประดับเงินจากนาโนซิลเวอร์เคลย์ และ ผศ.ยอดเยี่ยม ทิพย์สุวรรณ์ ภาควิชาวิศวะคอมพิวเตอร์ จากผลงานการสร้างเครื่อง Smart Doser ผสมสารละลายด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ และการพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ในระดับอุตสาหกรรม
ผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จะได้รับรางวัลประติมากรรมเรือใบซูเปอร์มดและเหรียญรางวัลเรือใบเรือใบซูเปอร์มด พร้อมเงินรางวัล 6 แสนบาท สำหรับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และ 1 แสนบาท สำหรับนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 26 ต.ค. 2553 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|