นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากผ่านฤดูแล้งไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ พบขณะนี้ ปริมาณน้ำเหลือรวมกันเพียง 1,487 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่มีการจัดเก็บได้ 8,720 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เพียงพอที่จะส่งให้กับเกษตรกรให้ทำนาปีในเขตชลประทาน ประกอบกับช่วงนี้เกิดภาวะฝนตกทิ้งช่วง จึงได้ประกาศเลื่อนการทำนาปีออกไป 1 เดือน จากช่วงปลายเดือน พ.ค.เป็นปลายเดือน มิ.ย.แทน
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายจึงต้องการเลื่อนทำนาปี จะไม่ส่งผลกระทบกับผลผลิต และไม่ทำให้ราคาข้าวปี 2553/2554 สูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลยังมีสต็อกข้าวอยู่จำนวนมาก
"เมื่อปี 2536 กระทรวงเกษตรฯ เคยประกาศให้เลื่อนการทำนาปีเหมือนกัน เพราะน้ำในเขื่อนมีน้อยมากและเกิดฝนตกทิ้งช่วงรุนแรงกว่า เมื่อเทียบกับปีนี้ดังนั้นจึงไม่น่าห่วงเรื่องผลผลิตที่คิดว่าน่าจะได้ 29 ล้านตันข้าวเปลือก คาดหลังจาก 1 เดือนไปแล้วจะมีฝนตก เพื่อไม่ให้การปลูกข้าวต้องล่าช้า ทั้ง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาล่วงหน้า" นายธีระกล่าว
นายธีระ กล่าวว่า ที่ผ่านมา น้ำที่มีอยู่ 8,720 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานได้จัดสรร เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/2553 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมกัน 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ร่วมกับการใช้น้ำจากเขื่อนแควน้อยฯ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้กำหนดแผนการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้ทั้งสิ้น 5.95 ล้านไร่ แยกเป็นในเขตชลประทาน 4.45 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.5 ล้านไร่
ทั้งนี้ จากปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้งดทำนาปรังครั้งที่ 2 เพราะน้ำมีไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากช่วงต้นปี 2553 ราคาข้าวสูงมาก ทำให้มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมีถึง 9.61 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึง 3.66 ล้านไร่ หรือ 62%ของแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลให้การใช้น้ำเพิ่มขึ้น โดยมีการใช้น้ำเกินแผนถึง 2,339 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เหลือน้ำที่ใช้ได้ขณะนี้เพียง 1,487 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ความต้องการใช้น้ำขั้นต่ำสุด เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือน พ.ค.- มิ.ย. 2553 มีประมาณวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นการใช้น้ำจากปัจจุบันถึงสิ้นเดือน มิ.ย.เพียง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ตอนท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เหนือจังหวัดนครสวรรค์วันละ 6.91 ล้านลูกบาศก์เมตร
การใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคในพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก วันละ 6.53 ล้านลูกบาศก์เมตร การประปานครหลวงวันละ 3.89 ล้านลูกบาศก์เมตร และการรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนวันละ 2.67 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งหมดจะเหลือปริมาณน้ำใช้ได้จากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกัน 500 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อข้าวนาปี กระทรวงเกษตรฯ ขอให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาปีออกไปก่อน
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การเลื่อนทำนาปีไม่ควรให้เกิน 1 เดือน เพราะจะส่งผลต่อต้นข้าวที่โตไม่ทัน เกรงผลผลิตข้าวหายการเลื่อนฤดูกาลทำนาปีออกไป มีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะทำนาหว่านมากขึ้นแทนการทำนาดำ ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอนการหว่านกล้าที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน การทำนาหว่านดูแลได้ยากกว่า เนื่องจากวัชพืชมีมาก ดังนั้น เกษตรกรต้องระมัดระวังผลผลิตให้ดี เพื่อไม่ให้คุณภาพข้าวลดลง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|