ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลตามแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ หรือโครงการข้าวใหม่มาแลกข้าวเก่า ตามนโยบายของนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า กระทรวงพาณิชย์จะใช้ข้าวสารนาปรัง ปี 2551 ซึ่งเป็นข้าวเก่า 5% มาแลกกับ ข้าวสารใหม่ที่มาจากโครงการรับซื้อ ข้าวเปลือกนาปรังปี 2553 จากเกษตรกรที่นำมาขายให้กับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยข้าวสารเก่า 5% ในสต๊อกที่จะนำมาใช้แลกจะมีปริมาณ 300,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวสารในคลังขององค์การคลังสินค้า (อคส.) 215,000 ตัน กับข้าวสารในคลังขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 85,000 ตัน
ทั้งนี้โรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องรับซื้อข้าวเปลือกนาปรังปี 2553 ชนิดที่สีเป็นข้าวสาร 5% จากเกษตรกรระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2553 ในราคาที่ "สูงกว่า" ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ประกาศในแต่ละช่วงเวลาตันละ 300 บาท และนำข้าวสารที่สีใหม่นั้นมาแลกกับข้าวเก่า (นาปรังปี 2551) ในสต๊อกรัฐบาล ในอัตราส่วนข้าวเปลือก 2 ส่วนต่อข้าวสาร 1 ส่วน โดยโรงสีที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เคยถูกขึ้นบัญชีดำ (black list) ไม่เคยถูกแจ้งความดำเนินคดีในโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร และต้องไม่เป็นผู้ที่ค้างส่งมอบข้าวในโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา
ในขณะที่เกษตรกรที่จะนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2553 มาขายให้กับโรงสี (รับเงินบวกเพิ่ม 300 บาท/ตัน) จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรการปลูกข้าวปี 2552/53 รอบที่ 2 โดยจะต้องนำต้นฉบับใบ ทพศ.1/3 มามอบให้กับโรงสีข้าวพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน ข้าวเก่าที่นำมาแลกเปลี่ยนจะต้องรับมอบข้าวตามคลังสินค้าที่ อคส./อ.ต.ก.กำหนด ทั้ง 2 หน่วยงานจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งจัดสรรปริมาณข้าวที่จะแลกเปลี่ยนด้วย หากเกิดกรณีโรงสี 2 โรงต้องการแลกข้าวเก่าในคลังเดียวกันมากกว่า 1 ราย ให้โรงสีเหล่านั้นเสนออัตรา แลกเปลี่ยนข้าวที่ดีที่สุดให้ อคส./อ.ต.ก. พิจารณาคัดเลือกผู้ที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีที่สุด ซึ่งในประเด็นนี้ได้สร้างความ "สงสัย" ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดคืออะไรกันแน่ ?
ทั้งนี้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิที่จะดูสภาพข้าวในคลังของ อคส./อ.ต.ก.ได้ก่อนการยื่นสมัครเข้าโครงการ รวมทั้งก่อนที่จะรับซื้อข้าวใหม่นาปรังปี 2553 จะมีการตรวจสอบสต๊อกข้าวของโรงสีนั้นโดยคณะ อนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ระดับจังหวัดด้วย นอกจากนี้ อคส./อ.ต.ก. จะมีการตรวจสอบคุณภาพข้าวใหม่ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนโดยเซอร์เวเยอร์ที่ อคส./ อ.ต.ก.เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำการตรวจรับข้าวสารใหม่เข้าคลังสินค้าที่กำหนด เมื่อรับมอบข้าวใหม่แล้ว โรงสีจะต้องนำข้าวเก่าที่ถูกแลกเปลี่ยนออกจากคลังที่ อคส./อ.ต.ก.กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเวลา 7 วัน นับจากวันที่ระบุไว้ในเอกสารสั่งจ่ายข้าวสาร ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการแลกเปลี่ยนข้าวใหม่กับข้าวเก่า ทั้งจากการ ส่งมอบและรับมอบข้าว อาทิ ค่ารถบรรทุก, ค่าแรงกรรมกร, ค่าชั่งน้ำหนัก, ค่าจัดเรียงกอง ให้เป็นภาระของโรงสี อคส./อ.ต.ก.จะรับภาระเฉพาะค่าตรวจสอบคุณภาพการรับข้าวสารใหม่เข้าเก็บในคลังเท่านั้น
จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ชุดหนึ่งเพื่อกำกับดูแลโครงการนี้ โดยกรรมการจะประกอบไปด้วย ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมการค้าภายใน, กรมการข้าว, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กระทรวงการคลัง, สำนักนายกรัฐมนตรี และ อคส./อ.ต.ก. โดยข้าวใหม่ที่แลกเปลี่ยนเข้ามานั้นให้ถือเป็นข้าวในสต๊อกของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551
อย่างไรก็ตามโครงการข้าวใหม่มาแลกข้าวเก่า โครงการนี้จะต้องขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก่อน ซึ่งจะมีการเรียกประชุมภายในสัปดาห์นี้ และโครงการนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากวงการค้าข้าวว่า จะ "เอื้อประโยชน์" ให้กับผู้ส่งออกหรือผู้ค้าข้าวในประเทศที่มีเครือข่ายโรงสีอยู่ใน ต่างจังหวัด เนื่องจากทุกคนทราบดีว่าข้าวสารใหม่จะมีราคา "ถูกกว่า" ข้าวสารเก่า ตันละ 100-300 บาท ซึ่งเมื่อทอนกลับไปเป็นข้าวเปลือกฤดูใหม่จะ "ถูกกว่า" ข้าวเปลือกเก่า 500-1,500 บาท/ตัน
นั่นหมายถึงว่าโครงการนี้จะทำให้รัฐบาล "ขาดทุน" จากราคารับจำนำ ข้าวนาปรังปี 2551 ที่มีต้นทุนเฉลี่ยตันละ 22,000 บาท หรือขาดทุนตันละ 9,000 บาท ถ้าทำการแลกเปลี่ยนข้าวครบทั้ง 300,000 ตัน รัฐบาลจะขาดทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท อีกทั้งโครงการนี้ยังถูกมองกันว่า ไม่ทำให้ซัพพลายข้าวหายไปจากระบบ เพราะข้าวเพียงแต่ถูกแลกเปลี่ยนเท่านั้น จึงไม่น่าที่จะทำให้ราคาข้าวภายในประเทศยกระดับขึ้นมาได้ หากไม่มีออร์เดอร์ใหญ่ ๆ เข้ามาช่วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|